ชายอ้างตัวป่วยจิตเวช ทำร้ายหนุ่มส่งพัสดุ
วันที่ 2 ส.ค. 2567 เวลา 11:05 น.
ห้องข่าวภาคเที่ยง - ไรเดอร์ งง! เข้าไปส่งพัสดุ แต่กลับถูกทำร้าย เหตุเพราะเจ้าของบ้านไม่พอใจไรเดอร์ชอบเบิ้นเครื่อง ทุบตีจนบาดเจ็บ เข้าโรงพยาบาล ชายอ้างตัวป่วยจิตเวช ทำร้ายหนุ่มส่งพัสดุ เป็นภาพจากกล้องวงจรปิด เหตุการณ์เกิดขึ้นที่บ้านหลังหนึ่ง เขตดอนเมือง หนุ่มไรเดอร์เข้าไปส่งพัสดุ แต่กลับถูกชายเสื้อสีฟ้าเจ้าของบ้านทำร้าย ใส่หมัดไม่ยั้ง และยังพยายามจับไรเดอร์ทุ่มลงกับพื้น โดยไม่รู้สาเหตุว่า เจ้าของบ้านทำไปเพราะอะไร? ทีมข่าวได้โทรศัพท์ไปพูดคุยกับไรเดอร์ผู้เสียหาย อายุ 27 ปี ซึ่งตอนนี้ยังพักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล เขาเล่าว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา ช่วงเวลาประมาณ 10.00 น. ระหว่างที่ตนขี่รถจักรยานยนต์เพื่อไปส่งพัสดุให้ลูกค้า จู่ ๆ มีชายคนหนึ่งเดินปรี่เข้ามาหาเรื่อง ก่อนจะลงมือทุบตีทำร้ายร่างกาย โดยชายคนดังกล่าวผลักตนจนล้มลงไปนอนกับพื้น และพยายามใช้โต๊ะหินอ่อนทุบเข้าที่ศรีษะ พร้อมกับใช้สายชาร์จแบตรัดเข้าที่คอของตน ซึ่งตนได้ตะโกนบอกว่า "ผมหายใจไม่ออก จะตายแล้วพี่" ผู้ก่อเหตุจึงปล่อยตัวและเดินหนีไป ผู้เสียหายเคยไปส่งพัสดุแล้วเจอชายคนนี้ประมาณ 2-3 ครั้ง ซึ่งทุกครั้งที่ขี่รถผ่าน เขาชอบตะโกนด่า หาว่าตนขี่รถเสียงดังบ้าง เบิ้นเครื่องเสียงดังบ้าง หลังเกิดเหตุตนยังรู้สึกปวดระบมที่ศีรษะอยู่ โดยเบื้องต้นได้ไปลงบันทึกประจำวันไว้ที่ สน.ดอนเมือง แล้ว พร้อมยืนยันจะเอาผิดกับคู่กรณีอย่างถึงที่สุด ขณะที่ ผู้เห็นเหตุการณ์ยังรู้สึกตกใจกับพฤติกรรมของชายที่อ้างตัวว่าป่วยจิตเวช ก่อเหตุทีไร อ้างว่าป่วยจิตเวชทุกที ชาวบ้านจึงอยากให้ตำรวจเข้ามาดำเนินการ เพราะหากต้องอยู่ร่วมกันแบบนี้ ยอมรับว่ากลัวชายคนนี้คลุ้มคลั่ง ปรี่เข้ามาทำร้าย เบื้องต้น ตำรวจให้สายสืบและสายตรวจเฝ้าสังเกตการณ์ในพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อไม่ให้เกิดเรื่องซ้ำ ซึ่งตั้งแต่วันที่มีเรื่องจนถึงขณะนี้ ผู้ก่อเหตุยังปิดบ้านเงียบ หายกันไปทั้งบ้าน กฎหมายเอาผิดผู้ป่วยจิตเวชได้ หรือไม่ ? ทีมข่าวสอบถามเรื่องการดำเนินคดีผู้ป่วยจิตเวชกับตำรวจ ให้ข้อมูลว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะมีอยู่ 2 มาตราเกี่ยวข้อง มาตรา 14 ให้พนักงานสอบสวน หรือศาล สั่งให้แพทย์ตรวจแล้วแจ้งผล หากผู้ต้องหาหรือจำเลย เป็นผู้วิกลจริตไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้งดการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณาไว้ ให้ส่งตัวไปรักษาจนกว่าผู้นั้นจะหายดี แล้วค่อยดำเนินคดีตามกฎหมาย มาตรา 65 ผู้ใดกระทำความผิดขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ก็ต้องรับโทษ แต่ศาลจะลงโทษ "น้อยกว่า" ที่กฎหมายกำหนดก็ได้ กรณีการบังคับให้ญาติ หรือครอบครัวต้องดูแลรับผิดชอบ เหมือนกรณีเด็กและเยาวชน หากเป็นกรณีทั่ว ๆ ไป ยังทำไม่ได้ เว้นแต่ว่าศาลจะเคยมีคำสั่งว่าบุคคลคนนั้น เป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือกรณีที่ 2 ใช้วิธีการทำสัญญาตกลงกัน ว่าหากบุคคลนี้ทำผิดแบบนี้อีก ครอบครัวจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ยกตัวอย่างข่าวกรณี "เค ร้อยล้าน" ที่ สน.ปทุมวัน เคยเสนอจะใช้วิธีนี้ในการแก้ปัญหา