พบรอยคล้ายรอยเท้าไดโนเสาร์ ที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า
วันที่ 29 ก.ค. 2567 เวลา 15:14 น.
อุทยานฯภูหินร่องกล้า พบรอยคล้ายรอยเท้าไดโนเสาร์ ใกล้ลานจอด ฮ. ประสานกรมทรัพยากรธรณีตรวจสอบให้ชัด วันนี้ (29 ก.ค.67) ที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ตำบลเนินเพิ่ม อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก นักท่องเที่ยวและผู้สนใจสัตว์ดึกดําบรรพ์ ไดโนเสาร์ ต่างเดินทางมาพิสูจน์ให้เห็นด้วยตา หลังจากทราบจากช่องทางออนไลน์ ว่ามีนักท่องเที่ยวพบรอยเท้าไดโนเสาร์ หลายรอย และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามาอนุรักษ์และศึกษา เป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวต่อไป สำหรับรอยที่คล้ายรอยเท้าไดโนเสาร์ ถูกพบในบริเวณใกล้เคียงกับลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ใกล้ลานกางเต็นท์ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ได้จัดทำแนวกั้นพื้นที่เพื่อรอการตรวจสอบตามหลักวิชาการ ซึ่งจุดแรก มีรอยคล้ายรอยเท้าไดโนเสาร์ กลุ่มเดินสองขา และกลุ่มเดินสี่ขา รอยเท้ามีขนาดความกว้างและยาว 30 เซนติมเตร กับรอยเล็กขนาด 20 เซนติเมตร ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าว มีรอยคล้าย รอยตีนไดโนเสาร์ สายพันธุ์ คาร์โนซอร์ ซีลูโรซอร์ ออร์นิโทพอต ซอโรพอต และอาร์โคซอร์ กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ ลักษณะพื้นที่ที่พบรเป็นลานหินกว้าง หินลาดเอียงไม่มาก ในช่วงฝนตกน้ำฝนจะไหลตามร่องแนวหิน และมีชั้นหินมีการแตกกะเทาะออกเป็นจุด ๆ ทั่วบริเวณ จุดที่พบรอยคล้ายรอยเท้าไดโนเสาร์ เป็นจุดที่น้ำกัดเซาะจากแผ่นหินชั้นบนแล้ว คาดว่าอาจเป็นรอยเท้าที่อยู่บนหินทราย ที่มีการทับถมตะกอนทางน้ำโบราณ เมื่อน้ำแห้งแล้วไดโนเสาร์มาเหยียบจนเกิดรอยตีนขึ้น เมื่อรอยตีนแห้งก็มีน้ำพัดมาอีกจนเกิดตะกอนหินทรายทับถมเป็นชั้น ๆ นายลำยอง ศรีเสวก หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า เปิดเผยว่า ขณะนี้ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ได้ประสานกับกรมทรัพยากรธรณี เพื่อขอให้นักวิชาการมาช่วยตรวจสอบ ซึ่งหากเป็นรอยเท้าไดโนเสาร์จริง ก็จะขอรับข้อมูลทางวิชาการ คำแนะนำและการจัดการพื้นที่ป้องกันไม่รอยตีนไดโนเสาร์เสียหายจากน้ำไหลพัดพาดินหินทรายมาสร้างความเสียหาย เพื่อเตรียมพัฒนาเป็นอีกหนึ่งจุดเช็คอิน แหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวที่สำคัญของ อุทยานแห่งชาาติภูหินร่องกล้าต่อไปในอนาคต ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ราชกิจานุเบกษา ออก ประกาศกรมทรัพยากรธรณี เรื่องแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียน แหล่งที่ 22 แหล่งรอยตีนไดโนเสาร์ลำน้ำหมันแดง อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า หลังจาก นักธรณีวิทยากรมทรัพยากรธรณี และดร.ฌอง เลอ ลูฟ ผู้เชี่ยวชาญไดโนเสาร์ จากประเทศฝรั่งเศส สำรวจพบเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2549 เป็นรอยตีนไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ คาร์โนซอร์ เป็นรอยตีนขนาดใหญ่ มี 3 นิ้ว จำนวนกว่า 17 รอย เรียงเป็นแนวทางเดิน 4 แนวทางเดิน สภาพของรอยตีนมีความชัดเจน ขนาดรอยตีนมีความกว้างประมาณ 30 เซนติเมตร ความยาวประมาณ 40 เซนติเมตร มีความยาวช่วงก้าวประมาณ 120 ถึง 150 เมตร สภาพทางภูมิศาสตร์ ของแหล่งซากดึกดำบรรพ์ เป็นลานหินทรายริมน้ำหมันแดง ซึ่งเป็นลำห้วยมีน้ำไหลตลอดปี และในพื้นที่เป็นป่าดิบเขา รอยตีนไดโนเสาร์ พบในหินทรายเนื้อละเอียด สีน้ำตาลและสีม่วงแดง หมวดหินภูพาน กลุ่มหินโคราช ยุคครีเทเซียสตอนต้น อายุประมาณ 120 ล้านปี