รุมค้านใช้ ไซยาไนด์ กำจัดปลาหมอคางดำ

วันที่ 27 ก.ค. 2567 เวลา 05:11 น.

สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์ - นักวิชาการรุมค้าน ไม่เห็นด้วยที่จะนำไซยาไนด์ มาใช้กำจัดปลาหมอคางดำ เพราะอาจมีสารพิษตกค้างทั้งในน้ำและสิ่งแวดล้อม ภายหลังนักวิชาการประมง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เสนอใช้ "ไซยาไนด์" เป็นยาแรงปราบปลาหมอคางดำให้สิ้นซากก่อนปลาไทยสูญพันธุ์นั้น ก็ทำให้บรรดานักวิชาการคนอื่น ๆ ออกมาแสดงความคิดเห็นค้านแนวคิดดังกล่าว แม้จะมีคนเห็นด้วย แต่คนที่ไม่เห็นด้วยก็มีมาก รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ "อ.อ๊อด" อาจารย์ นักวิชาการสาขาเคมีอินทรีย์ และผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกไม่ควรใช้ไซยาไนด์ วิธีการนี้ควรเป็นวิธีสุดท้าย หากหมดหนทางอื่น เพราะสารไซยาไนด์จะไปจับกับเหล็กและเม็ดเลือดแดง ซึ่งปลาเองมีเม็ดเลือดแดง หมายความว่า สารไซยาไนด์ จะตกค้างอยู่ในตัวของปลา หากใครนำไปรับประทานก็จะได้รับสารไซยาไนด์ไปด้วย ทั้งนี้ เท่าที่ศึกษาดูจากต่างประเทศที่มีการแก้ปัญหาพันธุ์ปลาเอเลี่ยน ก็ใช้วิธีการช็อตไฟฟ้า และการกำจัดด้วยวิธีอื่น โดย ไซยาไนด์ เคยถูกใช้ในสงครามเวียดนาม โดยนำสารใส่ลงไปในน้ำเพื่อจัดการฝั่งตรงข้าม แต่ปรากฏว่า ปลาตายหมด ศัตรูก็รู้หมด ไซยาไนด์จึงไม่ควรใช้ในการแก้ไขปัญหา ไม่ต่างกับ รศ.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์ประจำสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม บอกไม่แนะนำแนวทางนี้ เพราะอันตราย สารพิษอาจตกค้างสร้างปัญหาให้สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ รวมทั้งไอระเหยของไซยาไนด์ถือว่ารุนแรง ส่วนกรณีมีข่าวว่า เกษตรกรพบปลาหมอมายัน ปะปนอยู่กับปลาหมอคางดำในวังกุ้ง พื้นที่ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ยืนยัน แม้จะเป็นเอเลียนสปีชีส์เหมือนกัน แต่ไม่สามารถผสมพันธุ์ หรือกลายพันธุ์ได้