พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงเปิดนิทรรศการ ราชภูษิตาภรณ์สยาม
วันที่ 26 ก.ค. 2567 เวลา 20:02 น.
เวลา 17.18 น. วันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดนิทรรศการ "ราชภูษิตาภรณ์สยาม" ณ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดแสดงนิทรรศการ "ราชภูษิตาภรณ์สยาม" เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในฐานะทรงเป็นประธานที่ปรึกษาของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้พระราชทานคำแนะนำในการศึกษา ค้นคว้า สืบค้น และจัดหาวัตถุจัดแสดงจากสถานที่ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับผ้าที่ใช้ในราชสำนัก ที่มีลวดลายและธรรมเนียมการใช้งานที่แตกต่างกันได้อย่างสมบูรณ์ รวมทั้งถ่ายทอดเรื่องราวของผ้าผ่านฉลองพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามแบบโบราณราชประเพณี ที่ทรงใช้ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จากนั้น ทรงเปิดนิทรรศการ "ราชภูษิตาภรณ์สยาม" แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปยังชั้น 2 ทอดพระเนตรนิทรรศการ "ราชภูษิตาภรณ์สยาม" ณ ห้องจัดแสดงหมายเลข 3 และหมายเลข 4 ซึ่งจัดแสดงองค์ประกอบลายผ้าของราชสำนัก ที่มีระเบียบแบบแผนการแต่งกายของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน กำหนดไว้ในกฎมณเฑียรบาล อันถือเป็นกฎหมายที่เก่าแก่ที่สุดฉบับหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา ตราขึ้นเมื่อปี 1903 อาทิ ผ้ายก ที่มีความสวยงามจากการทอยก เกิดลวดลายนูนบนผืนผ้า ใช้ไหมสี ไหมเงิน ไหมทอง หรือแล่ง เป็นส่วนประกอบในการทอ มีชื่อเรียกตามชนิดของลวดลาย เช่น ผ้าเยียรบับ ผ้าเข้มขาบ ผ้าอัตลัด และผ้าตาด, ผ้าปูน ทอด้วยวิธีการมัดหมี่, ผ้าลายอย่าง สร้างลวดลายด้วยเทคนิคการเขียน หรือการพิมพ์ลาย นอกจากนี้ จัดแสดงฉลองพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น พระภูษาเศวตพัสตร์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และฉลองพระองค์ ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ในการนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการ "สิริราชพัสตราบรมราชินีนาถ" ณ ห้องจัดแสดงหมาย 2 และหมายเลข 1 จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผ่านฉลองพระองค์ในช่วงเวลาต่าง ๆ ทรงเป็นผู้นำในการเผยแพร่ความงดงามของผ้าไทยให้เป็นที่ประจักษ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นักออกแบบชาวไทยและชาวต่างชาติ ออกแบบและตัดเย็บฉลองพระองค์จากผ้าไทย ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งนำผลงานจากช่างฝีมือของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ไปจัดแสดงด้วยเสมอ จนทำให้ผ้าทอและงานศิลปหัตถกรรมไทยเป็นที่รู้จัก และเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก โดยนิทรรศการ ฯ นี้ จะจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2568 จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปห้องกิจกรรม "มองสยามตามสมัย" ชั้น 1 จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ นำเสนอลักษณะเด่นของชุดไทยและบริบททางสังคมในแต่ละยุค ผ่านศิลปะดิจิทัลอิมเมอร์ซีฟ อาทิ วิวัฒนาการการแต่งกายชุดไทยแต่ละสมัย จำลองลักษณะสังคมไทยในสมัยต่าง ๆ การแต่งกายของผู้คนแต่ละสมัย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร, คติความเชื่อเรื่องสีของไทยโบราณ ที่ส่งอิทธิพลต่อการแต่งกายเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ที่มาซึ่งเกี่ยวข้องกับเทวดานพเคราะห์ ไปจนถึงความเชื่อเรื่องสีในราชสำนัก คติเรื่องสีในตำรามหาทักษาและสวัสดิรักษา รวมถึงการนุ่งห่มสีมงคลตามวันของสตรีชาววัง โอกาสนี้ ทอดพระเนตรภายในร้านพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่นำลวดลายจากลายผ้าของราชสำนักมาใช้ อาทิ ชุดเครื่องประดับจากผ้าไหมปักประดับดิ้นทองด้วยมือ, ผ้านุ่งผ้าไหมพิมพ์ลายผ้าลายอย่างเขียนทอง, กรอบรูปผ้าไหม ปักลวดลายจากผ้าลายอย่างดอกสี่กลีบก้านแย่งด้วยดิ้นทอง, ผ้าพันคอผ้าไหมสเปน พิมพ์ลายผ้าลายอย่างดอกสี่กลีบก้านแย่ง และเทียนหอมอโรมาจากข้าวหอมมะลิไทย โดยนิทรรศการ "ราชภูษิตาภรณ์สยาม" จะเปิดให้เข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ถึงเดือนเมษายน 2570