ปลาหมอคางดำระบาดหนัก!

วันที่ 26 ก.ค. 2567 เวลา 16:34 น.

ข่าวเย็นประเด็นร้อน - ปลาหมอคางดำบุกจอมทอง หว่านแหปุ๊บ ติดปั๊บ ปลากระดี่ ปลาช่อน ปลาดุก ลดฮวบ ดร.จอห์น รีบลงพื้นที่ ปลาหมอคางดำระบาดหนัก! นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา หรือ ดร.จอห์น ประธานสภากรุงเทพมหานคร และนายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) เขตจอมทอง ลงพื้นที่บริเวณคลองลัดเช็ดหน้า เขตจอมทอง กรุงเทพ หลังมีการยื่นญัตติด่วนด้วยวาจา ในการประชุมสภา กทม. ขอให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา ดร.จอห์น เผยว่า จากการลงเรือสำรวจพื้นที่ มีการหว่านแหเป็นระยะตลอดแนวคลอง ผลปรากฏว่า พบปลาหมอคางดำติดแหขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ปกติในคลองนี้จะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลากระดี่ ปลาช่อน ปลาดุก แต่ระยะหลังพบว่า ปลาเหล่านี้ลดลงไปมาก ปัญหาของปลาหมอคางดำ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศเพียงอย่างเดียว แต่ยังกระทบถึงระบบเศรษฐกิจ ทำให้คุณภาพและปริมาณการจับสัตว์น้ำลดลงไปด้วย นอกจากนี้ พฤติกรรมของปลาหมอคางดำตัวผู้ จะอมไข่ไว้ในปาก เพื่อไม่ให้สัตว์น้ำอื่นมากินไข่ จึงจำเป็นมาก ถ้าตัดหัวปลาแล้ว ห้ามโยนลงแหล่งน้ำ แนะใช้ ไซยาไนด์ ล้างบางปลาหมอคางดำ ด้านนายอภินันท์ สุวรรณรักษ์ อาจารย์คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เผยว่า ตอนนี้มาตรการที่นำมาใช้กำจัด ทั้งการส่งปลานักล่าไปจัดการ หรือจับมาทำเมนูอาหารต่าง ๆ อาจไม่ทันการณ์ เพราะปลาหมอคางดำ เกิดง่าย ตายยาก และอึด ถึก ทน ปรับตัวอยู่ได้ในทุกสภาพน้ำ หากสถานการณ์เกินเยียวยา การใช้ไซยาไนด์ อาจเป็นมาตรการสุดท้าย วิธีนี้อาจดูโหดร้าย แต่เด็ดขาด และสามารถทำได้จริง แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข เช่น ต้องเป็นพื้นที่ที่ระบาดหนัก มีการบล็อกพื้นที่ต้นน้ำปลายน้ำ และต้องดำเนินการภายใต้เงื่อนไข ควบคุมเฉพาะ ไม่ให้ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม วิธีนี้อาจต้องยอมแลกกับปลาไทยที่จะตายไปพร้อมกัน แต่ไม่น่าห่วง เพราะสามารถฟื้นฟูเติมปลาไทยลงไปใหม่ได้ไม่ยาก ส่วนข้อกังวลเรื่องสารเคมีปนเปื้อนในแหล่งน้ำ อาจารย์อภินันท์ บอกว่า ไม่น่าห่วง เพราะโครงสร้างทางเคมีของไซยาไนด์ เป็นประจุลบ และพบได้ตามธรรมชาติอยู่แล้ว และจะไม่มีการตกค้าง เพียงแต่จะต้องมีการศึกษาเรื่องปริมาณที่เหมาะสมกับพื้นที่แหล่งน้ำ