พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทอดพระเนตรการแสดงอุปรากร "มาดามบัตเตอร์ฟลาย" เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
วันที่ 24 ก.ค. 2567 เวลา 20:04 น.
วานนี้ เวลา 19.46 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ทอดพระเนตรการแสดงอุปรากร "มาดามบัตเตอร์ฟลาย" เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา องค์อุปถัมภ์มูลนิธิรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนี ออร์เคสตร้า และองค์ประธานจัดงานการแสดงอุปรากร "มาดามบัตเตอร์ฟลาย" เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ โอกาสนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการ "Madama Butterfly Costume: The Making of" จัดแสดงการออกแบบชุดของนักแสดงโดยแบรนด์ SIRIVANNAVARI จากนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา กราบบังคมทูลรายงาน วัตถุประสงค์ของการจัดงานฯ ซึ่งสำนักนายกรัฐมนตรี และมูลนิธิรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้า ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 อุปรากร "มาดามบัตเตอร์ฟลาย" เป็นอุปรากรร้อง เรื่องราวความรัก เกียรติยศ และศักดิ์ศรี ระหว่างเกอิชาสาวชาวญี่ปุ่น ผู้ยึดมั่นในความรัก กับหนุ่มทหารเรือชาวอเมริกัน โดยสละชีวิต เพื่อรักษาเกียรติ และศักดิ์ศรี ผลงานบทประพันธ์ดนตรีของ จาโคโม ปุชชินี ชาวอิตาเลียน บทคำร้องเป็นภาษาอิตาเลียน ถูกนำออกแสดงครั้งแรกที่โรงอุปรากรสกาลา กรุงมิลาน ประเทศอิตาลี ในปี 2447 ถือเป็นเป็นอุปรากรเรื่องหนึ่งที่ได้รับความนิยมนำออกแสดงมากที่สุด 10 อันดับแรกของโลก และเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรป ในปี 2450 ได้ทอดพระเนตรอุปรากร "มาดามบัตเตอร์ฟลาย" ต่อมาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ได้ทรงดัดแปลงบทอุปรากรนี้ เป็นบทละครร้อง เรื่อง "สาวเครือฟ้า" และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทอดพระเนตรการแสดงอุปรากร "มาดามบัตเตอร์ฟลาย" ในปี 2563 ที่กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย จึงมีพระประสงค์ที่จะจัดการแสดงอุปรากรนี้ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยทรงเป็นผู้อำนวยการแสดง ออกแบบฉาก และเครื่องแต่งกาย พร้อมทรงคัดเลือกนักแสดงหลัก 9 คน จาก Opera Production กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย และเปิดคัดเลือกนักแสดงไทย ในบทนักแสดงสมทบ และนักร้องประสานเสียง กว่า 40 คน บรรเลงดนตรีโดยวงดุริยางค์ RBSO อำนวยเพลงโดย นายวาเลนทิน อีเกล ผู้อำนวยเพลงชาวเยอรมัน ที่สำคัญ ชุดของนักแสดงออกแบบใหม่ทั้งหมด โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา องค์ครีเอทีฟไดเรคเตอร์ ทรงออกแบบเสื้อผ้า นักแสดงหลัก 9 ตัวละคร รวม 14 ชุด และอีก 40 ชุด ออกแบบโดยทีมงานแบรนด์ SIRIVANNAVARI หลังจบการแสดง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลอากาศโท ภักดี แสง-ชูโต ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เชิญช่อดอกไม้พระราชทานถวายแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และมอบแก่ศิลปินและนักแสดง วงมูลนิธิรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้าฯ มีผลงานสำคัญมากมาย ทั้งยังเป็นวงออร์เคสตร้าของประเทศไทย ที่ได้รับโอกาสแสดงคอนเสิร์ตในฐานะทูตวัฒนธรรมยังต่างประเทศ อาทิ สาธารณรัฐเกาหลี, มาเลเซีย, สาธารณรัฐสิงคโปร์, สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม, สาธารณรัฐฟิลิปปินส์, สาธารณรัฐออสเตรีย และสาธารณรัฐฝรั่งเศส