เตือน เกษตรกร อย่าเดินลุยน้ำย่ำโคลน เสี่ยงติดเชื้อโรคเมลิออยด์

วันที่ 4 ก.ค. 2567 เวลา 17:13 น.

วันนี้ (4 ก.ค. 67) นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงโรคเมลิออยด์ หรือโรคไข้ดินว่า เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เบอร์โคเดอเรีย สูโดมัลลิอาย พบได้ทั่วไปในดิน ในน้ำ นาข้าว ท้องไร่ สวนยาง ทั่วทุกภาคในประเทศไทย โดยผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา จับปลา ลุยน้ำ ปลูกแปลงผัก ทำสวนยาง จับปลา หรือลุยโคลน เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ 1.การสัมผัสน้ำหรือดินที่มีเชื้อปนเปื้อน 2.ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป 3.สูดหายใจเอาฝุ่นจากดินที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป หลังติดเชื้อประมาณ 1-21 วันจะเริ่มมีอาการเจ็บป่วย แต่บางรายอาจนานเป็นปี ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับและภูมิต้านทานของแต่ละคน อาการของโรคนี้ไม่มีลักษณะเฉพาะ จะมีความหลากหลายคล้ายโรคติดเชื้ออื่นๆ หลายโรค เช่น มีไข้สูง มีฝีที่ผิวหนัง มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ อาจติดเชื้อเฉพาะที่ หรือติดเชื้อแล้วแพร่กระจายทั่วทุกอวัยวะและเสียชีวิตได้ โดยกลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุดคือ กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 50-59 ปี และ กลุ่มอายุ 10-14 ปี ตามลำดับ กลุ่มอาชีพที่ป่วยมากที่สุดคือ เกษตรกร และชาวนา นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ในการป้องกันโรคเมลิออยด์ หรือโรคไข้ดิน ควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบูทหรือถุงพลาสติกหุ้มรองเท้า และอาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังจากทำงานหรือลุยน้ำ หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อที่แพทย์จะได้ตรวจวินิจฉัยและรักษาทันทีตามอาการและความรุนแรงของโรค สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422