นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่จังหวัดอุบลราชธานี

วันที่ 3 ก.ค. 2567 เวลา 20:06 น.

นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมด้วย นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนฯ ลงพื้นที่เพื่อฯ ไปติดตามการดำเนินการโครงการอ่างเก็บน้ำลำห้วยบอน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลโซง อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นโครงการที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อปี 2539 ตามที่อดีตผู้ใหญ่บ้านวารีอุดม หมู่ที่ 1 ตำบลสีวิเชียร ขอพระราชทานโครงการฯ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากความแห้งแล้ง โดยในปี 2563 สำนักงาน กปร. ได้สนับสนุนงบประมาณในการเตรียมความพร้อมของโครงการฯ ประกอบด้วย ถนนเข้าหัวงาน งานรางระบายน้ำคอนกรีตดาด และงานท่อลอดถนน (Box Culvert) ปัจจุบันแล้วเสร็จกว่าร้อยละ 80 หากแล้วเสร็จทั้งหมดจะทำให้ราษฎรตำบลโซงและตำบลสีวิเชียร อำเภอน้ำยืน รวม 9 หมู่บ้าน มีแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค สนับสนุนพื้นที่ทำการเกษตรในช่วงฤดูฝน 5,000 ไร่ และในช่วงฤดูแล้ง 1,500 ไร่ รวมทั้ง เป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำ เพิ่มความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่าไม้บริเวณรอบอ่างเก็บน้ำ ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัย ลดความเสียหายจากน้ำท่วมด้านท้ายน้ำและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจให้แก่ของราษฎร ช่วงบ่าย องคมนตรี ไปตรวจเยี่ยมและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านราษฎร์เจริญ พร้อมระบบส่งน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลอ่างศิลา อำเภอพิบูลมังสาหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อปี  2563 ตามที่ราษฎรบ้านราษฎร์เจริญ ตำบลอ่างศิลา ขอพระราชทานโครงการฯ เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร โดยสำนักงาน กปร. ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณ กปร.ฯ ประจำปี 2564 เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ และดำเนินการโดยแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 ทำให้ราษฎรบ้านราษฎร์เจริญและหมู่บ้านใกล้เคียง 195 ครัวเรือน 820 คน มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรได้อย่างพอเพียงตลอดปี ในช่วงฤดูแล้งสามารถสนับสนุนพื้นที่การเกษตร 300 ไร่ และในช่วงฤดูฝน 1,700 ไร่ โอกาสนี้ องคมนตรี มอบพันธุ์โคแก่ราษฎร 10 คน เพื่อใช้เป็นพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ และรับฟังการบริหารจัดการน้ำจากกลุ่มผู้ใช้น้ำ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้น้ำเพื่อการทำนา โดยปลูกข้าวหอมมะลิ กข.15 ประมาณ 1,200 ไร่ ให้ผลผลิต 443 กิโลกรัมต่อไร่ และปลูกข้าวเหนียวพื้นเมือง 800 ไร่ ให้ผลผลิต 466 กิโลกรัมต่อไร่