ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปในพิธีทบทวนคำปฏิญาณและสวนสนามของลูกเสือ ในงานวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ ประจำปี 2567
วันที่ 1 ก.ค. 2567 เวลา 20:05 น.
เวลา 17.07 น. วันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปยังค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ในพิธีทบทวนคำปฏิญาณและสวนสนามของลูกเสือ ในงานวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ ประจำปี 2567 ซึ่งสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ร่วมกับสํานักงานลูกเสือจังหวัด 77 จังหวัดทั่วประเทศ และกระทรวงศึกษาธิการจัดขึ้น เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทย และแสดงความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประมุขของคณะลูกเสือแห่งชาติ ในการนี้ ผู้แทนพระองค์ มอบเหรียญลูกเสือสรรเสริญชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 ประจำปี 2566 แก่บุคลากรทางการลูกเสือที่ประกอบความดีความชอบช่วยชีวิตผู้ตกอยู่ในอันตราย 2 คน พร้อมมอบโอวาท และเป็นประธานในพิธีทบทวนคำปฏิญาณและสวนสนามของลูกเสือ โดยปีนี้มีลูกเสือ เนตรนารี และบุคลากรทางการลูกเสือจากทั่วประเทศ เข้าร่วมพิธีฯ กว่า 3,400 คน สํานักงานลูกเสือแห่งชาติ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานหลักสูตร และพระราชทานตราสัญลักษณ์ลูกเสือจิตอาสาพระราชทาน ในการฝึกอบรมบุคลากรทางการลูกเสือ และฝึกอบรมลูกเสือ โดยมีผู้บังคับบัญชา และบุคลากรผ่านการฝึกอบรมลูกเสือจิตอาสาพระราชทาน 13,636 คน, ลูกเสือจิตอาสาพระราชทาน 124,086 คน สถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ 3,360 แห่ง การดําเนินกิจการลูกเสือ ของสํานักงานลูกเสือแห่งชาติเป็นไปเพื่อพัฒนาเยาวชนให้มีคุณภาพ ยึดมั่นในอุดมการณ์ของลูกเสือ มีความรัก ความศรัทธาในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รู้จักบําเพ็ญประโยชน์ เพื่อช่วยเหลือชุมชนและสังคม อันเป็นคุณสมบัติพื้นฐานสําคัญ ในการส่งเสริมให้เยาวชนไทยเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ ภายใต้คําขวัญ "ทําดี ทําได้ ทําทันที" ปีนี้ นับเป็นครั้งที่ 4 ที่จัดพิธีทบทวนคำปฏิญาณและสวนสนาม ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี การสวนสนามของลูกเสือ นอกจากเป็นการแสดงความจงรักภักดีแล้ว ยังเป็นการแสดงความพร้อมเพรียง ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของลูกเสือ ที่ร่วมกันทำงานเป็นหมู่คณะ ด้วยความอดทนไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก ก่อให้เกิดความรักความสามัคคีมีน้ำใจต่อกัน อันเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของพลังความสามัคคี เพื่อความเจริญของประเทศชาติบ้านเมืองในอนาคต