หมอหมู วีระศักดิ์ โพสต์เตือน ความขี้เกียจ เสี่ยง หัวใจวาย มะเร็ง สมองเสื่อม

วันที่ 27 มิ.ย. 2567 เวลา 11:49 น.

วันนี้ (27 มิ.ย. 67) หมอหมู หรือ รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้โพสต์เฟซบุ๊กเตือนเรื่อง ความขี้เกียจ เสี่ยง หัวใจวาย มะเร็ง สมองเสื่อม โดยหมอหมูได้โพสต์ระบุข้อความว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) แจ้งเตือนว่า 1 ใน 3 ของประชากรโลก ออกกำลังกายเพียงเล็กน้อยเพื่อสุขภาพของตนเอง ความขี้เกียจ หรือความเกียจคร้านทำให้ผู้ใหญ่ประมาณ 1.8 พันล้านคนทั่วโลก ตกอยู่ในอันตรายจากโรคเบาหวานประเภท 2 หัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง และภาวะสมองเสื่อม WHO กล่าวว่าผู้คนควรออกกำลังกาย ระดับปานกลางอย่างน้อย 2.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือเพียง 22 นาทีต่อวัน แต่ร้อยละ 31 ของประชากรโลก ไม่ออกกำลังกาย ซึ่งเป็นภัยคุกคามเงียบต่อสุขภาพ มีส่วนอย่างมากต่อการเกิดโรคเรื้อรัง การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงของ 1. โรคมะเร็งหลายชนิดได้ 8–28% 2. โรคหัวใจและหลอดเลือด 19% 3. โรคเบาหวาน 17% 4. ภาวะซึมเศร้าและภาวะสมองเสื่อม 28–32% ควรออกกำลังกายเท่าใดและเมื่อใด? ผู้ที่มีอายุ 19 ถึง 64 ปี: 1. ควรออกกำลังกายที่มีความเข้มข้นระดับปานกลาง (การเดินเร็ว แอโรบิกในน้ำ ขี่จักรยาน เต้นรำ เทนนิสคู่ การเข็นเครื่องตัดหญ้า เดินป่า หรือโรลเลอร์เบลด): 150 นาทีต่อสัปดาห์ โดยใช้เวลา 21 นาทีต่อวัน หรือ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ 2. ควรออกกำลังกายที่มีความเข้มข้นระดับหนัก (การวิ่ง ว่ายน้ำ ขี่จักรยานเร็วหรือบนเนินเขา การเดินขึ้นบันได กีฬา เช่น ฟุตบอล รักบี้ ฮ็อกกี้ กระโดดเชือก แอโรบิก ยิมนาสติก หรือศิลปะการต่อสู้): 75 นาทีต่อสัปดาห์ ซึ่งอาจจะน้อยกว่า 11 นาทีต่อวัน หรือ 25 นาที 3 วันต่อสัปดาห์ ควรออกกำลังกายเวลาไหน? การศึกษาในปี 2022 นำโดยศาสตราจารย์ Paul J Arciero จากวิทยาลัย Skidmore รัฐนิวยอร์ก พบว่า 1. การออกกำลังกายช่วงเช้า: ช่วยลดไขมันบริเวณหน้าท้องและสะโพกและช่วยแก้ปัญหาในการนอนหลับ 2. การออกกำลังกายช่วงเย็น: ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของร่างกายและช่วยปรับปรุงอารมณ์