ชาย-หญิงเสียชีวิตในรถ ไม่ใช่เกิดจากการฆ่าตัวตาย
วันที่ 20 มิ.ย. 2567 เวลา 06:09 น.
เช้านี้ที่หมอชิต - ญาติของฝ่ายชาย และฝ่ายหญิง ที่เสียชีวิตอยู่ภายในรถยนต์เมื่อคืนวันที่ 18 มิถุนายน ไปติดต่อขอรับศพ นำทั้งสองคนไปประกอบพิธีทางศาสนาที่บ้านเกิด บรรยากาศเต็มไปด้วยความโศกเศร้า พี่ชายผู้เสียชีวิต พูดทั้งน้ำตา ว่าเคยเตือนน้องเรื่องนอนหลับบนรถ แต่ก็ไม่ฟัง จนมาเกิดเหตุร้ายขึ้น นายวัฒนชัย (สงวนนามสกุล) อายุ 28 ปี คนนี้เป็นพี่ชายของหญิงสาวที่เสียชีวิตคู่กับเพื่อนชาย อยู่ภายในรถเก๋งสีขาว ที่จอดอยู่บริเวณปากซอยพัฒนาการ 12 เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ ที่เปิดใจพูดถึงการจากไปของน้อง ระหว่างไปติดต่อขอรับศพ เพื่อนำกลับไปประกอบพิธีทางศาสนา ซึ่งพี่ชายก็บอกว่า ตนเองไม่ได้ติดใจอะไรกับการเสียชีวิตของน้อง และก็เคยเตือนน้องไปแล้ว ให้ระวังเรื่องการนอนหลับพักผ่อนบนรถ โดยติดเครื่องยนต์ไว้ ส่วนเรื่องจดหมายที่เจอในรถ เป็นของคนรักเก่าที่มาตามง้อขอคืนดี ไม่ได้มีประเด็นอะไร เช่นเดียวกับ นายคูณ ผู้เป็นพ่อ ที่ไม่ได้ติดใจอะไรเป็นพิเศษ แต่ก็ไม่ขอสรุปไปก่อนที่ผลการชันสูตรจะออกมายืนยัน ว่าลูกสาวเสียชีวิตจากสาเหตุอะไร ส่วนฝ่ายชายที่เสียชีวิต ยอมรับว่าไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน คาดว่าเป็นคนรักใหม่ของลูกสาว สำหรับศพของผู้เสียชีวิตฝ่ายชาย ครอบครัวพากลับไปประกอบพิธีทางศาสนาที่บ้านเกิดที่วัดโคกสะอาด อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา ส่วนฝ่ายหญิงได้นำกลับไปประกอบพิธีทางศาสนาที่วัดดงปู อำเภอเมือง จังหวัดตาก ทีมข่าวสอบถามเรื่องนี้กับ พันตำรวจเอก วชิรากรณ์ วงศ์บุญ ผู้กำกับการ สน.คลองตัน ระบุว่า จากการไล่ตรวจสอบภาพวงจรปิด เชื่อได้ว่าไม่น่าเกิดจากการฆ่าตัวตาย แต่เป็นเพราะขาดอากาศหายใจ เนื่องจากเข้าไปนอนในรถที่ปิดกระจกมิดชิด แล้วสตาร์ตเครื่องเปิดเครื่องปรับอากาศทิ้งไว้ อีกทั้งได้ตรวจสอบภาพวงจรปิดแล้ว เห็นได้ว่าผู้เสียชีวิตฝ่ายหญิง ขึ้นไปบนรถเวลา 03.47 น. จากนั้นฝ่ายชาย ตามขึ้นไปบนรถเวลา 04.27 น. และช่วงประมาณ 05.00 น. ยังเห็นภาพฝ่ายชายเปิดประตูรถลงมาปัสสาวะ ก่อนกลับขึ้นไปบนรถ ซึ่งหลังจากนี้ก็ต้องรอผลการชันสูตรอย่างเป็นทางการออกมา ถึงจะนำมาประกอบสำนวนคดีต่อไป รองศาสตราจารย์ เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงเรื่องนี้ โดยอ้างอิงเนื้อข่าว และข้อมูลจากโรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายว่า สาเหตุที่ทำให้ทั้งสองคนเสียชีวิต เป็นเพราะรถยนต์จอดติดเครื่องยนต์ แล้วทำให้เกิดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ เกิด "ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์" รั่วซึมเข้าห้องโดยสาร และก๊าซตัวที่ว่าก็กลายเป็นพิษต่อเลือด หลังได้รับเข้าสู่ร่างกายนานกว่า 4 ชั่วโมง ถ้าถามว่า แล้วถ้าต้องนอนในรถ เพราะขับไปต่อไม่ไหว ควรทำอย่างไร อย่างแรกที่อาจารย์แนะนำก็คือ ไม่ควรนอนหลับขณะติดเครื่องยนต์ หากจำเป็นก็ให้จอดรถในพื้นที่โล่ง อากาศถ่ายเท ตั้งนาฬิกาปลุก ใช้การงีบพักแค่ 15-20 นาที เพื่อให้คลายความเหนื่อยล้า ไม่ควรหลับยาว เพื่อความปลอดภัย