ญี่ปุ่นใช้ระบบ AI ช่วยตรวจสุขภาพแมว
วันที่ 14 มิ.ย. 2567 เวลา 08:02 น.
ทาสแมวในญี่ปุ่น หันมาใช้แอปพลิเคชัน "แคตส์มี" (CatsMe!) เพื่อเจ้านายอันเป็นที่รักจะได้รับความช่วยเหลือด้านการดูแลสุขภาพจากระบบ "เอไอ" (AI) ในเบื้องต้น ก่อนทาสทั้งหลายจะตัดสินใจนำเจ้านายไปพบวัตวแพทย์ โดย นางมายูมิ คิตากะตะ อายุ 57 ปี เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้เธอรู้สึกเป็นห่วงสุขภาพและความเป็นอยู่ของเจ้า "ชิ" (Chi) แมวแสนรัก ซึ่งมีอายุมากถึง 14 ปีแล้ว เพื่อให้มันอยู่กับเธอไปอีกนาน ๆ โดยตั้งแต่เดือนมีนาคมเธอได้โหลดแอปพลิเคชัน "แคตส์มี" มาใช้ และถือเป็นผู้ใช้แอปพลิชันนี้รายแรก ๆ ที่ใช้ระบบ "เอไอ" (AI) ตรวจจับความรู้สึกเจ็บปวดของแมว เพื่อช่วยให้ทาสแมวทั้งหลายประเมินเบื้องต้นว่าจะต้องนำพวกมันไปพบสัตวแพทย์หรือไม่ ซึ่งช่วยลดการเสียเวลาในการนำพวกมันไปโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น แม้ว่าสัตว์เลี้ยงจะเป็นส่วนหนึ่งของหลายครอบครัวทั่วโลก แต่พวกมันก็มีบทบาทมากสำหรับชาวญี่ปุ่น เนื่องจากจำนวนประชากรสูงวัย และอัตราการเกิดที่ลดลง โดยสมาคมอาหารสัตว์เลี้ยงแห่งญี่ปุ่น ประเมินว่าเมื่อปีที่ผ่านมา มีสัตว์เลี้ยงแมวและสุนัขเกือบ 16 ล้านตัวในประเทศ ซึ่งมากกว่าจำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีในญี่ปุ่นเสียอีก "แคร์โลจี" (Carelogy) สตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีและนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิฮง (Nihon) ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน "แคตส์มี" โดยรวบรวมรูปภาพแมวกว่า 6,000 รูป และให้ระบบ "เอไอ" จดจำสัญญานความเจ็บปวดของใบหน้าแมว โดยปัจจุบันมีผู้ใช้งานแอปพลิเคชันนี้มากกว่า 23,000 คนแล้ว นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว โดยนักพัฒนายืนยันว่า มีความแม่นยำมากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ และจะมีการปรับปรุงระบบ "เอไอ" ให้อ่านใบหน้าของแมวเพิ่มมากขึ้นอีก เพื่อให้ทาสแมวนำข้อมูลเบื้องต้นไปให้สัตวแพทย์ดู เพื่อช่วยในการวินิจฉัยและสามารถช่วยเหลืออาการเจ็บป่วยของแมวเหล่านี้ได้ทันท่วงที