4-11 มิ.ย. พื้นที่เสี่ยงอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก

วันที่ 2 มิ.ย. 2567 เวลา 15:24 น.

วันนี้ (02 มิ.ย. 67) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศ พบมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง และมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลาง และภาคตะวันออก สทนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ตามฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ จากกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรธรณี พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน ช่วงวันที่ 4-11 มิถุนายน 2567 ดังนี้ 1. ภาคเหนือ - จังหวัดเชียงราย (อำเภอเมืองเชียงราย แม่สาย แม่สรวย พาน เทิง เชียงของ และเวียงป่าเป้า) - จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอแม่อาย ฝาง ไชยปราการ เชียงดาว พร้าว จอมทอง ฮอด แม่แจ่ม แม่ริม สะเมิง และแม่วาง) - จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ปางมะผ้า ปาย ขุนยวม แม่ลาน้อย แม่สะเรียง และสบเมย) - จังหวัดลำปาง (อำเภอเกาะคา เถิน แม่พริก วังเหนือ เมืองปาน แจ้ห่ม และงาว) - จังหวัดพะเยา (อำเภอเมืองพะเยา ภูซาง ปง และเชียงคำ) - จังหวัดน่าน (อำเภอเมืองน่าน ทุ่งช้าง ปัว ท่าวังผา แม่จริม และเวียงสา) - จังหวัดตาก (อำเภอเมืองตาก ท่าสองยาง แม่ระมาด แม่สอด พบพระ และอุ้มผาง) - จังหวัดพิษณุโลก (อำเภอชาติตระการ นครไทย วังทอง และเนินมะปราง) - จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ หล่มเก่า เขาค้อ และหล่มสัก) 2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - จังหวัดเลย (อำเภอนาแห้ว เชียงคาน ด่านซ้าย และปากชม) - จังหวัดหนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย ศรีเชียงใหม่ และโพนพิสัย) - จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอบุ่งคล้า โซ่พิสัย เซกา และบึงโขงหลง) - จังหวัดชัยภูมิ (อำเภอเมืองชัยภูมิ คอนสาร หนองบัวแดง และเทพสถิต) - จังหวัดขอนแก่น (อำเภอเมืองขอนแก่น) - จังหวัดอุดรธานี (อำเภอนายูง และน้ำโสม) 3. ภาคตะวันออก - จังหวัดปราจีนบุรี (อำเภอเมืองปราจีนบุรี ประจันตคาม และนาดี) - จังหวัดชลบุรี (อำเภอเมืองชลบุรี และศรีราชา) - จังหวัดระยอง (อำเภอเมืองระยอง ปลวกแดง นิคมพัฒนา และแกลง) - จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี เขาคิชฌกูฏ มะขาม ขลุง และแหลมสิงห์) - จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด เขาสมิง บ่อไร่ และเกาะช้าง) 4. ภาคตะวันตก - จังหวัดกาญจนบุรี (อำเภอเมืองกาญจนบุรี สังขละบุรี ทองผาภูมิ ศรีสวัสดิ์ ไทรโยค และด่านมะขามเตี้ย) - จังหวัดราชบุรี (อำเภอสวนผึ้ง และบ้านคา) - จังหวัดเพชรบุรี (อำเภอแก่งกระจาน หนองหญ้าปล้อง ท่ายาง และชะอำ) สทนช. ระบุว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้ 1. ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังระบายไม่ทัน 2. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ลอกท่อระบายน้ำ และบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที 3. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์