เตือนปีนี้ ระวังฝนตกแบบสุดขั้ว

วันที่ 28 พ.ค. 2567 เวลา 04:21 น.

เช้าข่าว 7 สี - กรมชลประทาน สั่งทุกสำนักชลประทาน เตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนอย่างเข้มงวด จับตาพายุเข้าไทย 2 ลูก ช่วงเดือนสิงหาคม - เดือนตุลาคมนี้ คาดอาจเกิด ฝนตกแบบสุดขั้ว เตือนปีนี้ ระวังฝนตกแบบสุดขั้ว "ฝนตกแบบสุดขั้ว" คืออะไร ฝนตกแบบสุดขั้ว คือ ลักษณะฝนที่รุนแรงผิดปกติ จนอาจก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อชุมชน การเกษตรกรรม รวมทั้งระบบนิเวศทางธรรมชาติ ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ เช่น เป็นวันหรือสัปดาห์ ไม่เฉพาะฝน เกิดได้ทั้ง คลื่นความร้อน (Heat Waves) ฝนตกรุนแรง พายุทอร์นาโด พายุหมุนเขตร้อน น้ำท่วมและฝนตกแบบสุดขั้ว ก็คาดว่า ปีนี้จะเกิดกับประเทศไทย เป็นเหตุให้กรมชลประทาน สั่งทุกสำนักชลประทาน เตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนอย่างเข้มงวด ลดผลกระทบประชาชนให้มากที่สุด นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน ยืนยัน แม้ไทยอาจเผชิญกับภาวะฝนแบบสุดขั้ว แต่จะไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 โดยให้เฝ้าระวังพายุเข้าไทย 2 ลูก ช่วงเดือนสิงหาคม - เดือนตุลาคม ช่วงนี้แหละที่คาดว่า อาจเกิดฝนตกแบบสุดขั้ว ซึ่งตลอดช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดด้วยรัดกุม และตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - กันยายน ปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้น และจะคงสภาวะนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี 2567 จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศให้ปฏิบัติตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 67 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด แค่ต้นฤดูฝน อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบน ล้นแล้ว ทว่าเริ่มต้นฤดูฝน ก็ทำให้อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบน ตำบลบ้านเก่า อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เอ่อล้นสปิลเวย์แล้ว จากระดับกักเก็บ 8.40 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้เพราะมีฝนตกหนักบนเทือกเขาพังเหย ทำให้ปริมาณน้ำจากเทือกเขาไหลลงอ่างฯ ถือเป็นเรื่องดีที่อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบน เต็มตั้งแต่ต้นปี เพราะทุก ๆ ปี จะมีน้ำมากในช่วงเดือนกรกฎาคม ตอนนี้น้ำกำลังไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างไปลงสู่คลอง 3 บาท และไหลลงอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง ตำบลบัลลังก์ อำเภอโนนไทย ซึ่งตอนนี้มีปริมาณน้ำเพียง 17 ล้านลูกบาศก์เมตร จากระดับกักเก็บ 27.70 ล้านลูกบาศก์เมตร