บุกจับ ทนายดัง หลัง ข่มขืน ลูกความ
วันที่ 20 พ.ค. 2567 เวลา 16:35 น.
ข่าวเย็นประเด็นร้อน - รวบทนายดัง ก่อเหตุข่มขืนลูกความ ซ้ำยังไปฟ้องเหยื่อกลับ ฐานกรรโชกทรัพย์ และแจ้งความเท็จ นายพงศธร หรือ ทนายอาร์ม อดีตผู้สมัคร สส.ในเขตจังหวัดสงขลา อายุ 34 ปี ถูกตำรวจนครบาล จับกุมตัวที่บ้านหลังหนึ่ง บนถนนเทศบาล 38 ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนปีที่แล้ว หญิงสาวอายุ 26 ปี ต้องการสลัดความวุ่นวาย ตัดสินใจกระโดดลงจากดาดฟ้า เรือหลวงจักรีนฤเบศร์ ในฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี แต่ทหาร 2 นาย ช่วยไว้ได้ทัน จนนำมาสู่การเปิดโปงคดีอื้อฉาวของ "ทนายดังคนนี้" เธอเล่าว่า ปลายปี 2565 ต้องการทวงเงินคืนจากเพื่อน 100,000 บาท ก่อนไปพบกับ ทนายอาร์ม หลังพูดคุย เธอถูกหลอกให้ไปร่วมงานประชุมของ ทนายอาร์ม ที่พรรคหนึ่ง ย่านดอนเมือง ก่อนหลอกให้ไปส่ง และช่วยขนของเก็บบนห้อง แต่สุดท้ายกลับถูกล่วงละเมิดทางเพศ - ซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะถ้าไม่ไป ทนายอาร์ม ขู่จะบอกสามี และในวันเกิดเหตุ พยายามหนี แต่ทนายจับได้ พร้อมพูดขู่ว่า "หนีไปบอกใคร ก็ไม่มีใครเชื่อหรอก เดินเข้ามาในห้องเองแบบนี้ คือการสมยอม" สุดท้าย ผู้เสียหาย ลุกขึ้นสู้ ตัดสินใจแจ้งความ สน.ดอนเมือง แต่กลับถูก ทนายดัง "ฟ้องกลับ" ในข้อหากรรโชกทรัพย์ และแจ้งความเท็จ พร้อมเรียกเงิน 300,000 บาท รวมถึงส่งข้อความข่มขู่ เช่น "กูจะทำให้ดู นรกเป็นยังไง", "มึงอี...กูจะใช้กฎหมายกับมึง กูจะใช้ทุกอย่างให้มึงติดคุก" จนเธอแทบกลายเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ออกจากงาน จนตัดสินใจกระโดดลงจากเรือหลวงจักรีนฤเบศร์ เพื่อหวังฆ่าตัวตาย เรื่องนี้ พอถึงหูของ พลตำรวจตรี ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล สั่งเร่งติดตามจับกุมตัวทนายดังรายนี้ได้ที่ จังหวัดสงขลา โดยในชั้นจับกุม ทนายอาร์ม ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ให้การว่า "เป็นการสมยอมของทั้งสองฝ่าย และยังบอกอีกว่า คดีนี้ผมชนะอยู่แล้ว ตอนนี้ได้ฟ้องกลับฝ่ายหญิงแล้ว ยืนยัน ไม่ได้เป็นการแก้เกลี้ยว ขออย่าไปเข้าข้างฝ่ายหญิง ให้ดูข้อเท็จจริง แต่ถึงอย่างไร ตำรวจทราบมาว่า ประชาชนในพื้นที่หลายราย เคยถูกทนายอาร์มคนนี้ ร้องเรียนและแจ้งความไว้เป็นจำนวนมาก ด้าน พลตำรวจตรี ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล เผยว่า ผู้ต้องหายังคงให้การปฏิเสธ อ้างว่าผู้เสียหายสมยอม โดยผู้ต้องหาได้ใช้ความรู้ทางด้านกฎหมาย ฟ้องร้องผู้เสียหายหลายคดี จากการตรวจสอบประวัติของผู้ต้องหา แม้เพิ่งถูกดำเนินคดีครั้งแรก แต่มีประวัติและพฤติการณ์ในลักษณะเดียวกันอยู่อีกจำนวนหนึ่ง อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียด และติดต่อผู้เสียหายเข้ามาแจ้งความเพิ่มเติม