พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเจิม เรือหลวงช้าง ณ ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
วันที่ 18 พ.ค. 2567 เวลา 20:01 น.
เวลา 16.50 น. วันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินถึงสนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราว หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี, ผู้พิพากษาศาลฎีกา ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาภาค 2, แม่ทัพภาคที่ 1, ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2, ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ พร้อมข้าราชการ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ จากนั้น ประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เวลา 17.11 น. เสด็จพระราชดำเนินถึงยังพลับพลาพิธีฯ ท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ ทรงประกอบพิธีเจิม "เรือหลวงช้าง" ซึ่งกองทัพเรือ ได้ว่าจ้างสร้างเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกเข้ามาประจำการ เป็นไปตามแนวทางการพัฒนากำลังรบตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ เพื่อรองรับบทบาทและหน้าที่ของกองทัพเรือในด้านการป้องกันประเทศ การรักษาผลประโยชน์และเส้นทางคมนาคมของชาติทางทะเล โดยการปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบก สนับสนุนการปฏิบัติการเรือดำน้ำ ตลอดจน การช่วยเหลือประชาชนในการบรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ ซึ่งเรือลำนี้ ได้เดินทางกลับมาถึงราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า "เรือหลวงช้าง" ชื่อย่อว่า "ร.ล.ช้าง" และชื่อภาษาอังกฤษว่า "H.T.M.S. CHANG" ตามชื่อของหมู่เกาะช้างในจังหวัดตราด ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของกองทัพเรือ ที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การตั้งชื่อเรือรบ ตามประเภทของเรือ โดยในส่วนของเรือยกพลขึ้นบก กำหนดให้ตั้งชื่อตามเกาะต่าง ๆ ในประเทศไทย หมายเลขเรือ 792 โอกาสนี้ เสด็จขึ้นเรือหลวงช้าง บริเวณดาดฟ้าหลัก ทรงทำความเคารพธงราชนาวีทางท้ายเรือ แล้วเสด็จขึ้นแท่นพิธีฯ ประทับยืน ณ พระสุจหนี่ ทรงรับการถวายความเคารพจากแถวทหาร แตรเดี่ยวเป่าถวายความเคารพ 3 จบ และทรงรับการถวายความเคารพจากเรือหลวงปิ่นเกล้า ยิงสลุตหลวง จำนวน 21 นัด แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปยังบริเวณหัวเรือของเรือหลวงช้าง เสด็จขึ้นแท่นพิธีฯ ประทับยืน ณ พระสุจหนี่ ในการนี้ ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมแผ่นป้ายชื่อเรือหลวงช้าง แล้วทรงคล้องพวงมาลัยบริเวณแผ่นป้ายชื่อเรือหลวงช้าง แล้วทรงพระดำเนินไปยังห้องโถงนายทหาร พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ผู้บัญชาการทหารเรือ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเรือหลวงช้าง (จำลอง) และผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายลองลูกปืนยิงสลุตหลวงนัดแรกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, ผู้บัญชาการกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กองเรือยุทธการ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมาลาปักชื่อเรือหลวงช้างแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และผู้บังคับการเรือหลวงช้าง เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมาลาปักชื่อเรือหลวงช้าง แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการนี้ ทอดพระเนตรภายในห้องสะพานเดินเรือ เรือหลวงช้าง ซึ่งเป็นห้องควบคุมการเดินเรือ เพื่อให้เรือสามารถเดินทางไปถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัยตรงตามเวลา โดยมีนายยามเรือทำหน้าที่ควบคุมและสั่งการบนสะพานเดินเรือ ตามแนวทางและคำสั่งการของผู้บังคับการเรือ ภายในมีอุปกรณ์สำหรับการนำเรือที่ทันสมัย เช่น เรดาร์เดินเรือ จำนวน 2 ตัว แบบ x-band และ s-band แผนที่อิเล็กทรอนิกส์ จีพีเอสสำหรับการนำเรือ ระบบกล้องวงจรปิด ที่สามารถใช้ตรวจสอบในขณะปฏิบัติการยกพล และขณะปฏิบัติการร่วมระหว่างเรือกับอากาศยาน รวมทั้งระบบถือท้ายที่ทันสมัยเพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จตามที่ได้รับมอบหมาย เรือหลวงช้างลำนี้ เป็นเรือหลวงช้างลำที่ 3 ของราชนาวีไทย โดยเป็นเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ลำใหม่ที่กองทัพเรือได้ว่าจ้าง บริษัท China Shipbuilding Trading (CSSC) ให้ต่อขึ้น ณ อู่ต่อเรือหูตงจงหัว นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งได้รับการปรับปรุงและพัฒนาแบบมาจากเรือ LPD Type 071 ที่ประจำการในกองทัพเรือจีน มีขีดความสามารถในการควบคุมบังคับบัญชา การปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก และมีขีดความสามารถในการลำเลียงกำลังรบยกพลขึ้นบก จำนวน 650 นาย มียานรบประเภทต่าง ๆ รวมถึง ยุทโธปกรณ์ อีกทั้ง สามารถปฏิบัติงาน ร่วมกับอากาศยานของกองทัพเรือได้ทุกประเภท ใช้ระยะเวลาในการต่อเรือ 4 ปี โดยได้เข้าประจำการในกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กองเรือยุทธการ มีภารกิจหลักในการปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก การขนส่งและลำเลียง อีกทั้ง เป็นเรือบัญชาการ และมีภารกิจรอง ในการสนับสนุนการปฏิบัติการของเรือดำน้ำ เช่น การช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัย การอพยพประชาชน การสนับสนุนการป้องกัน และต่อต้านการก่อการร้ายในทะเลและท่าเรือ โดยเรือมีความพร้อมปฏิบัติราชการตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายทันทีที่เดินทางกลับมาถึงประเทศไทย เช่น การฝึกผสม BLUE STRIKE 2023 ระหว่างกองทัพเรือไทยและกองทัพเรือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในช่วงเดือนกันยายน 2566 ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือในระดับทวิภาคีที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของกองทัพเรือไทยในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และการบริหารจัดการภัยคุกคามความมั่นคงทางทะเล