ไบเดนลงนามร่างกฎหมายห้ามนำเข้า 'ยูเรเนียม' จากรัสเซีย

วันที่ 15 พ.ค. 2567 เวลา 11:11 น.

วันนี้ (15 พ.ค. 67) โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามในกฎหมายที่ห้ามนำเข้ายูเรเนียมเสริมสมรรถนะต่ำที่ไม่ผ่านการฉายรังสีจากรัสเซีย โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ภายใน 90 วัน เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ แถลงว่าไบเดนได้ลงนามในกฎหมายห้ามนำเข้ายูเรเนียมจากรัสเซีย ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดและเลิกพึ่งพารัสเซียในด้านพลังงานนิวเคลียร์ทางพลเรือนในท้ายที่สุด ร่างกฎหมายดังกล่าวซึ่งได้รับอนุมัติจากสภาคองเกรสแล้ว กำหนดว่ายูเรเนียมเสริมสมรรถนะต่ำที่ไม่ผ่านการฉายรังสีที่ผลิตในรัสเซียหรือโดยหน่วยงานของรัสเซีย จะไม่สามารถนำเข้ามายังสหรัฐฯ ได้ โดยยูเรเนียมเสริมสมรรถนะมักถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายนี้จะมีข้อยกเว้นสำหรับระบบสาธารณูปโภคที่ต้องปิดเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เนื่องจากการตัดอุปทานยูเรเนียมจากรัสเซีย จนถึงวันที่ 1 ม.ค. 2028 ซัลลิแวนระบุว่ากฎหมายดังกล่าวจะช่วยปลดล็อกเงินทุนของรัฐบาลกลางจำนวน 2.72 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.98 หมื่นล้านบาท) ที่ได้รับอนุมัติจากสภาคองเกรสเมื่อไม่นานนี้ โดยเงินนี้จะถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มปริมาณยูเรเนียมในสหรัฐฯ เดอะ วอชิงตัน โพสต์ รายงานว่าบริษัทสหรัฐฯ จ่ายเงินราว 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.67 หมื่นล้านบาท) ต่อปี สำหรับการซื้อยูเรเนียมเสริมสมรรถนะจากรอสอะตอม (Rosatom) กลุ่มบริษัทพลังงานนิวเคลียร์ของรัฐบาลรัสเซีย รายงานระบุว่ากฎหมายที่ประกาศใช้ใหม่นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อตัดการหมุนเวียนของหนึ่งในเงินก้อนสำคัญก้อนสุดท้ายจากสหรัฐฯ ไปยังรัสเซีย ท่ามกลางความขัดแย้งของรัสเซียกับยูเครน