วอนธนาคารเจ้าของคอนโดฯ 47 ห้อง ช่วยจ่ายค่าส่วนกลาง 19 ปี
วันที่ 14 พ.ค. 2567 เวลา 16:13 น.
ข่าวเย็นประเด็นร้อน - คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ สภาพทรุดโทรม ซึ่งนิติบุคคล บอกว่า สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะเก็บเงินค่าส่วนกลางมาดูแลคอนโดฯ ได้ไม่ถึงครึ่ง โดยเฉพาะจากเจ้าของห้องจำนวน 47 ห้อง ที่ไม่ได้จ่ายค่าส่วนกลางมาราว 19 ปี จำนวนเงินค้างกว่า 21 ล้าน และพบว่าเจ้าของ 47 ห้องนั้น เป็นธนาคารแห่งหนึ่ง นี่เป็นสภาพ ทรัพย์สินส่วนกลาง ของคอนโดฯ แห่งหนึ่ง ย่านอ่อนนุช เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร อยู่ในสภาพค่อนข้างทรุดโทรม ซึ่งทางนิติบุคคลของคอนโดฯ บอกว่า มีหลายเหตุผล เช่น อาคารมีอายุ 20 กว่าปี แต่ส่วนหนึ่ง เป็นเพราะไม่สามารถเก็บเงินค่าส่วนกลาง จากเจ้าของห้อง มาดูแลคอนโดฯ ได้ครบทุกห้อง รวมถึงเจ้าของห้องจำนวน 47 ห้อง ที่พบว่าเป็นธนาคารแห่งหนึ่ง คุณมยุรี ลุ่มร้อย กรรมการนิติบุคคล ซึ่งเพิ่งเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้จัดการคอนโดฯ แห่งนี้ และเธอเป็นผู้อยู่อาศัยด้วย บอกว่า คอนโดฯ มี 6 อาคาร รวม 142 ห้อง แต่ว่าจะมีอยู่ 2 อาคาร ที่เจ้าของห้องเดิม ผ่อนไม่ไหว ถูกยึดไปขายทอดตลาด รวมกันประมาณ 47 ห้อง ซึ่งคุณมยุรี บอกว่า ตอนแรก ไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ กระทั่งเมื่อต้นปีนี้เอง ไปหาข้อมูลจากกรมบังคับคดี จึงรู้ว่า ผู้ที่ซื้อห้องทั้ง 47 ห้องไว้ เป็นธนาคารแห่งหนึ่ง ซื้อตั้งแต่ปี 2548 แต่ไม่ได้จ่ายค่าส่วนกลางเลย รวมเป็นเวลาราว 19 ปี คุณมยุรี บอกว่า เมื่อรู้อย่างนี้ จึงทำหนังสือไปยังธนาคารแห่งนี้ ให้ช่วยจ่ายค่าส่วนกลาง รวมทั้งสิ้น 19 ปี จำนวน 21 ล้านกว่าบาท คุณอธิพัชร์ ดาดี ผู้อยู่อาศัย และเป็นประธานกรรมการนิติส่วนกลาง คอนโดฯ แห่งนี้ บอกว่า นอกจากห้อง 47 ห้อง จะเป็นของธนาคารเจ้าเดียว ยังมีห้องอื่น ๆ อีกประมาณ 10 ห้อง ที่มีเจ้าของเป็นธนาคารอื่น ซึ่งจะเจอสภาพเหมือนกันคือ ไม่มีใครมาจ่ายค่าส่วนกลาง ส่วนหนึ่งก็ส่งผลต่อเงินที่นำมาบำรุงดูแลรักษาคอนโดฯ แต่มีข้อมูลอีกด้าน ทีมข่าวเย็นประเด็นร้อน ติดต่อสอบถามไปยังธนาคารดังกล่าว ชี้แจงว่า สถาบันการเงินนี้ ไปประมูลคอนโดฯ ดังกล่าว 47 ห้อง จากกรมบังคับคดี ตั้งแต่ปี 2548 แต่ยังไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ เป็นอาคารปิดทิ้งร้าง อีกทั้งในช่วงนั้น พบว่าไม่มีนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมาย เพราะผู้จัดการนิติบุคคล เป็นบุคคลล้มละลาย ไม่มีคุณสมบัติใน พ.ร.บ.อาคารชุด ทำงบการเงินไม่ได้ และสถาบันการเงิน ก็ไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์จากโครงการนี้ มีการเจรจากันมาตลอด แต่ไปต่อไม่ได้ ตอนนี้มีผู้จัดการนิติบุคคลคอนโดฯ คนใหม่ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการพูดคุยกัน เพื่อคลี่คลายข้อสงสัยว่า จริง ๆ แล้วที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ทีมข่าวเย็นประเด็นร้อน ติดต่อไปที่สำนักงานส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กรมที่ดิน ให้ข้อมูลว่า แต่ก่อนการซื้อคอนโดฯ ต่อจากกรมบังคับคดี หรือซื้อจากการขายทอดตลาด ไม่ต้องใช้ใบปลอดหนี้ ซึ่งก็คือเอกสารที่ระบุว่าไม่ค้างค่าส่วนกลาง แต่หลังปี 51 เป็นต้นมา มีการแก้กฎหมาย การซื้อขายคอนโดฯ หรือเปลี่ยนมือ เปลี่ยนเจ้าของ ต้องมีใบปลอดหนี้ เพื่อยืนยันว่าจ่ายค่าส่วนกลางครบ ส่วนกรณีนี้ แม้จะยังไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ แต่ว่าถ้าไปซื้อต่อมาจากกรมบังคับคดีแล้ว ก็ต้องจ่ายค่าส่วนกลาง ซึ่งลูกบ้านทุกคนมีหน้าที่ต้องจ่าย แม้ว่าจะไม่ได้อยู่อาศัยในคอนโดฯ ที่ตัวเองเป็นเจ้าของก็ตาม ซึ่งหากว่า แต่เดิมผู้จัดการนิติบุคคลคอนโดฯ เป็นบุคคลล้มละลาย ก็ยังมีกรรมการนิติบุคคลคนอื่น ทำหน้าที่แทนได้ แต่ว่าหนี้ค่าส่วนกลางที่ค้างกันมานานถึง 19 ปี ก็ต้องไปใช้สิทธิทางศาลฟ้องร้องเอา ซึ่งเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกา ให้จ่ายเฉพาะค่าส่วนกลางที่ค้างไว้ไม่เกิน 5 ปี