ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไตหมูไม่ได้เสียชีวิต เพราะอวัยวะที่ปลูกถ่าย ผู้เชี่ยวชาญคาดอาจมาจากโรคแทรกซ้อน

วันที่ 14 พ.ค. 2567 เวลา 14:04 น.

ผู้เชี่ยวชาญเผย การเสียชีวิตของ นายริค สเลย์แมน ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไตหมูนั้นไม่เกี่ยวกับอวัยวะที่ปลูกถ่าย เนื่องจากในวันที่เขาเสียชีวิตไตยังทำงานปกติ แต่การเสียชีวิตอาจมาจากโรคแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับหลอดเลือดและหัวใจ วันนี้ (14 พ.ค. 67) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า จากกรณีที่ นาย ริค สเลย์แมน อายุ 62 ปี ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตหมูครั้งประวัติศาสตร์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้เสียชีวิตลงเมื่อวานนี้ ล่าสุด ทาง “ลีโอนาร์โด ริเอลลา” ผู้อำนวยการทางการแพทย์ด้านการปลูกถ่ายไตที่โรงพยาบาลทั่วไป ในรัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยว่า การปลูกถ่ายไตหมูไม่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของ นายริค สเลย์แมน พร้อมยืนยันการเสียชีวิตไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับอวัยวะที่ได้รับการปลูกถ่าย เนื่องจากการทดสอบที่ดำเนินการในวันที่นายสเลย์แมนเสียชีวิตระบุว่า ไตยังคงทำงานได้ปกติ ซึ่งจะมีการรวบรวมข้อมูลและตัวอย่างจากผู้ป่วยอย่างละเอียด ทั้งนี้ ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท "อี-เจเนซิส" (e-Genesis) ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพผู้บุกเบิกเบื้องหลังการปลูกถ่ายไตหมูในครั้งใหม่ ได้กล่าวถึงประวัติทางการแพทย์ที่ซับซ้อนของนายสเลย์แมน ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคเมตาบอลิซึม และโรคเบาหวาน แต่การตรวจสอบเบื้องต้นไม่ได้บ่งชี้ถึงปัญหาใด ๆ เกี่ยวกับไตหมู อย่างไรก็ตาม สาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงของนายสเลย์แมนยังไม่ทราบแน่ชัด ซึ่งสมมติฐานหลักชี้ไปที่ความเกี่ยวข้องที่อาจเกิดขึ้นกับโรคร่วมที่แฝงอยู่ของนายเสเลย์แมน ที่เกี่ยวกับหลอดเลือดและหัวใจ ซึ่งจะมีการตรวจสอบให้ชัดเจนอีกครั้ง ทั้งนี้ นายริค สเลย์แมน ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตหมูครั้งประวัติศาสตร์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยใช้การผ่าตัดนานประมาณ 4 ชั่วโมง ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของวงการแพทย์ในการเพิ่มการเข้าถึงการปลูกถ่ายอวัยวะจากสัตว์ ซึ่งจากข้อมูลของ United Network for Organ Sharing พบว่า ผู้คนกว่า 100,000 คนในสหรัฐอเมริกากำลังรอการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยมีไตเป็นที่ต้องการสูงสุด ซึ่งตอกย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ปัญหาเชิงนวัตกรรม เช่น การปลูกถ่ายไตหมูที่บุกเบิกโดย e-Genesis