พะยูนเกยตื้นเพียบ ครึ่งปีดับ 20 ตัว รมว.ทส.สั่งตั้งวอร์รูมแก้ปัญหาด่วน

วันที่ 13 พ.ค. 2567 เวลา 11:51 น.

เปิดสถิติสุดช็อก ครึ่งปีพะยูนเกยตื้นแล้ว 20 ตัว พัชรวาท สั่งกรมอุทยานฯ-กรมทะเลฯ ตั้งวอร์รูมเร่งแก้ปัญหา คุมเข้มเรือนำเที่ยว-เรือประมง พะยูน เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามนโยบาย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานฯ ได้สั่งการให้ตน ร่วมกับ นายเพิ่มศักดิ์ คงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) และหัวหน้าอุทยานแห่งชาติทางทะฝั่งอันดามันจัดประชุมหารือร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรณีพบการตายของพะยูน สัตว์ป่าสงวนใกล้สูญพันธุ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 7-11 พฤษภาคม 2567 พบการตายของพะยูนแล้ว จำนวน 4 ตัว ตัวที่ 1. เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 พบพะยูนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุใบพัดเรือฟัดบริเวณหัวของพะยูนเพศเมีย บริเวณอ่าวทึงทางเข้าท่าเทียบเรือหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี  จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นสถานที่เรือท่องเที่ยวสัญจรเป็นจำนวนมาก ตัวที่ 2 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 พบพะยูนเกยตื้น บริเวณท่าเทียบเรือเกาะมุกด์ ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง สาเหตุถูกกระแทกอย่างรุนแรงบริเวณหัว จนทำให้กะโหลกแตก คาดเกิดจากพฤติกรรมต่อสู้กัน ตัวที่ 3-4 เมื่อวันวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 พบซากพะยูนแม่ลูก เสียชีวิต เจ้าหน้าที่สายตรวจส่วนกลางอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณีและเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 จ.พังงา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมตรวจสอบซากพะยูน ซึ่งได้รับแจ้งว่าชาวบ้านได้ช่วยกันลากมาไว้ที่เกาะหมากน้อย ต.เกาะปันหยี จ.พังงา พบซากพะยูนเพศเมียจำนวน 2 ตัว นายอรรถพล สั่งการให้จัดประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาสัตว์ทะเลหายากเสียชีวิต ร่วมระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ ทสจ.พังงา ณ ห้องประชุมศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จังหวัดพังงา และร่วมประชุมออนไลน์ผ่านระบบ zoom เพื่อวิเคราะห์หาแนวทางในการกำหนดมาตรการในการดูแลคุ้มครอง ป้องกัน การบาดเจ็บและเสียชีวิตของสัตว์ทะเลหายากโดยเฉพาะพะยูน ซึ่งปัจจุบันพบการเกยตื้นหรือการตายของพะยูนเพิ่มมากขึ้น สืบเนื่องจากสภาวะโลกร้อนทำให้ทรัพยากรแหล่งหญ้าทะเลซึ่งเป็นแหล่งหากินของพะยูนมีแนวโน้มเสื่อมโทรม ส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายประชากรพะยูน ไปยังแหล่งหญ้าทะเลอื่น ซึ่งอาจมีกิจกรรมสัญจรทางน้ำและกิจกรรมประมงจำนวนมาก อันส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและอยู่อาศัยของพะยูน และเกิดเหตุเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางน้ำได้ โดยอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ได้นำเสนอมาตรการอนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเล ในการจัดทำเครื่องหมายแสดงเขตหญ้าทะเลและพื้นที่เสี่ยงที่พะยูนใช้ในการเดินทางอพยพหากิน เพื่อจัดทำเป็นมาตรการและข้อปฏิบัติในการดูแลคุ้มครองพะยูนและแหล่งหญ้าทะเลในพื้นที่ เพื่อเป็นประกาศอุทยานแห่งชาติ ใช้เป็นกรณีตัวอย่างการปฏิบัติในพื้นที่และขยายผลไปยังพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทางทะเลในพื้นที่ต่อไป และร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กำหนดแนวทางสำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุของพะยูน ในพื้นที่การแพร่กระจายของพะยูนและแหล่งหญ้าทะเล บริเวณอ่าวพังงา จำนวน 11 พื้นที่ ได้แก่ 1.อ่าวตังเข็น ภูเก็ต 2.อ่าวป่าคลอก ภูเก็ต 3.อ่าวบ้านคลองเคียน พังงา 4.เกาะหมาก พังงา 5.ช่องหลาด เกาะยาว พังงา 6.อ่าวท่าปอม กระบี่ 7.อ่าวนาง กระบี่ 8.อ่าวน้ำเมา กระบี่ 9.เกาะศรีบอยา เกาะปู กระบี่ 10.เกาะลันตา กระบี่ และ 11.แหลมไทร กระบี่ โดยมีมาตรการดังนี้ 1. หากมีการพบเห็นพะยูนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ให้โทรแจ้งสายด่วนหมายเลข 1362 เพื่อ อส.และ ทช. จะประสานเจ้าหน้าที่ในบริเวณใกล้เคียงเข้าไปช่วยเหลือเพื่อนำส่งศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก ของทช. ที่มีอยู่ในพื้นที่ 2. ประกาศให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและประชาชนที่ใช้ยานพาหนะในการสัญจรทางน้ำ เดินเรือตามแนวร่องน้ำหลัก โดยขอความร่วมมือให้งดการเดินเรือในบริเวณแหล่งหญ้าทะเล และหากจำเป็นต้องเดินเรือผ่านแนวเขตหญ้าทะเล โดยให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 3 น๊อต และไม่เกิน 20 น๊อต ในพื้นที่ชายฝั่งที่เป็นเขตการแพร่กระจายพะยูน 3. ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่ประกอบอาชีพประมงในพื้นที่หญ้าทะเลและแหล่งแพร่กระจายของพะยูน หมั่นตรวจเช็ก ดูแลเฝ้าระวังเครื่องมือประมงขณะทำการอย่างต่อเนื่อง หรือหลีกเลี่ยงการทำประมงในพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงบูรณาการร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ทั้งนี้ อส.และ ทช จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำ ทำความเข้าใจ และเพิ่มเติมความรู้ในด้านต่างๆ อาทิ งดการใช้เครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายต่อชีวิตพะยูนในแหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูน หรือในแหล่งหญ้าทะเล ปฏิบัติตามกฎหมายและไม่ทำประมงในพื้นที่ที่มีพะยูนอาศัยอยู่ เป็นต้น นอกจากนี้ ทั้งสองหน่วยงานจะได้ร่วมกันนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งโดยการบินสำรวจจำนวนประชากรของฝูงพะยูน เพื่อตรวจสอบจำนวนและวางแผนอนุรักษ์พะยูน รวมถึงการลาดตระเวนเฝ้าระวังไม่ให้มีเรือเข้าไปรบกวนหรือทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อฝูงพะยูน อย่างไรก็ตาม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะดำเนินมาตรการตามกฎหมายและระเบียบอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์และคุ้มครองพะยูน หากพบว่ากิจกรรมจากการท่องเที่ยวและนำเที่ยว หรือการประมง เป็นสาเหตุการตายของพะยูน จะบังคับใช้มาตรการปิดการท่องเที่ยวและกันพื้นที่เข้าออกในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตอนุรักษ์สัตว์ป่า และพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ทั้งนี้ ได้สั่งการให้หน่วยในสังกัดดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการ และประชาชนที่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งได้รับทราบถึงแนวทางการป้องกันและช่วยเหลือพะยูนต่อไป สำหรับสถิติการตายของพะยูน ปี 2567 พบพะยูน ตาย รวม 20 ตัว ปี 2566 พบพะยูน ตาย รวม 40 ตัว ปี 2565 พบพะยูน ตาย รวม 18 ตัว โดย ปี พ.ศ. 2566 จำนวนพะยูนเกยตื้นทั้งหมด 40 ตัว - จังหวัดตรัง 23 ตัว - จังหวัดกระบี่ 10 ตัว - จังหวัดชลบุรี 1 ตัว - จังหวัดพังงา 1 ตัว - จังหวัดภูเก็ต 3 ตัว - จังหวัดสตูล 1 ตัว - จังหวัดสุราษฎร์ธานี 1 ตัว