เตือนบ่อย กินหมูดิบตาย ไข้หูดับป่วย 271 คน ตาย 16 คน
วันที่ 8 พ.ค. 2567 เวลา 17:58 น.
เตือนบ่อย ๆ ก็ยังกิน โรคไข้หูดับพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น กินหมูดิบตายเพราะไข้หูดับ ปีนี้ผ่านไปเพียง 5 เดือน ป่วยแล้ว 271 คน ตาย 16 คน ไข้หูดับพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น วันนี้ (8 พ.ค. 67) นพ.ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงโรคไข้หูดับว่า เกิดจากการกินเนื้อหมู หรือเลือดหมูสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบหมูดิบ ลาบเลือดดิบ ที่มีเชื้อสเตปโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) ปนเปื้อนอยู่ โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่ติดเชื้อ นอกจากนี้โรคไข้หูดับสามารถติดต่อผ่านทางบาดแผล รอยถลอก และทางเยื่อบุตา นพ.ทวีชัย กล่าวต่อว่า เมื่อได้รับเชื้อโรคไข้หูดับเข้าไปแล้ว ทำให้ผู้ติดเชื้อมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ หนาวสั่น สับสนกระสับกระส่าย ปวดข้อ คอแข็ง หูหนวกหรือการได้ยินลดลงอย่างเฉียบพลัน การทรงตัวผิดปกติ หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว ความดันเลือดต่ำ มีจ้ำเลือดทั่วตัว ปวดตา ตาแดง หรือมองภาพไม่ชัด สำหรับสถานการณ์โรคไข้หูดับในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม ถึง 7 พฤษภาคม 2567 มีผู้ป่วยโรคไข้หูดับ 271 คน มีผู้เสียชีวิต 16 คน ส่วนสถานการณ์โรคหูดับ ในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม ถึง 7 พฤษภาคม 2567 พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับ จำนวน 48 คน มีผู้เสียชีวิต 2 คน แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ นครราชสีมา มีผู้ป่วย 25 คน เสียชีวิต 1 คน ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 11 คน เสียชีวิต 1 คน สุรินทร์ มีผู้ป่วย 7 คน บุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 5 คน ทั้งนี้ กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือ กลุ่มอายุ 65 ปี ขึ้นไป รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 55-64 ปี และกลุ่มอายุ 45-54 ปี นพ.ทวีชัย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีกระแสสังคมบนสื่อออนไลน์ได้รีวิวการรับประทานอาหารดิบ และมีพฤติกรรมการดื่มสุราร่วมกับการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ มีผู้ติดตามรับชมจำนวนมาก อาจทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ หรืออยากลองทำตาม ทำให้เสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับได้ เพื่อเป็นการป้องกันโรคไข้หูดับ ขอให้ประชาชนรับประทานหมูอย่างถูกวิธี ดังนี้ 1.รับประทานเนื้อหมู หรือเลือดหมูที่ปรุงสุกเท่านั้น โดยปรุงให้สุกผ่านความร้อนมากกว่า 70 องศาเซลเซียส นานอย่างน้อย 10 นาที 2.อาหารปิ้งย่าง ควรใช้อุปกรณ์ในการคีบเนื้อหมูดิบและเนื้อหมูสุกแยกจากกัน และขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” 3.ไม่ควรรับประทานหมูดิบร่วมกับการดื่มสุรา 4.เลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่มีมาตรฐาน เชื่อถือได้ ไม่ควรซื้อจากแหล่งที่ไม่ทราบที่มาของหมู 5.ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรค โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบูทยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง