เครื่องสำอางปลอมแบรนด์ดัง ขายช่องทางออนไลน์ เจอ ปคบ.-อย.ตามจับยกโกดัง

วันที่ 25 เม.ย. 2567 เวลา 14:29 น.

ซื้อเครื่องสำอางออนไลน์อาจเจอของปลอม ปคบ.ร่วม อย. ตามจับถึงโกดัง ซุกของเก๊ 31,922 ชิ้น มูลค่ากว่า 20 ล้านบาท ฟากเจ้าของชาวจีนเผ่นหนีแล้ว เครื่องสำอางปลอม วันนี้(25 เม.ย.2567) พลตำรวจตรีวิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ บก.ปคบ. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. แถลงผลปฏิบัติการทลายโกดังเครื่องสำอางปลอมของนายทุนจีนในพื้นที่ตำบลบ้านท้าย อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ยึดของกลางเป็นเครื่องสำอางปลอมแบรนด์ดังรวม 62 รายการ หรือจำนวนกว่า 31,922 ชิ้น มูลค่ากว่า 20 ล้านบาท จากการตรวจค้นพบนางสาวกรรณิกาฯ รับว่าเป็นผู้ดูแลโกดัง พานำตรวจค้น โดยพบว่าเครื่องสำอางที่พบในโกดังเป็นสินค้าไม่มีเลขจดแจ้ง ไม่แสดงสลากภาษาไทย และเครื่องสำอางปลอมส่วนใหญ่ที่พบ เป็นเครื่องสำอางแบรนด์ดังอย่างยี่ห้อ Amway Glister , Eucerin , Anessa , Cerave , Garnier , Biore เป็นต้น และโกดังแห่งนี้จะดำเนินการลักษณะ "เก็บ แพ็ก และส่ง" โดยนางสาวกรรณิกาให้การว่าสินค้าทั้งหมดเป็นของนายช่าน หลิง ชิว นายทุนชาวจีน ซึ่งจะสั่งสินค้าเครื่องสำอางที่เป็นกระแสและเป็นที่นิยมมาจากประเทศจีน จากนั้นจะนำมาเก็บไว้ที่โกดังเพื่อรอแพ็กส่งให้ลูกค้าชาวไทยที่สั่งซื้อผ่านทางออนไลน์ โดยนายทุนจีนรายนี้ได้เปิดร้านค้าออนไลน์ไว้เพื่อใช้โฆษณาสินค้ารวมกว่า 44 ร้านค้า ทำมานาน 1 ปีแล้ว และมียอดการส่งสินค้าสูงถึง 2,000-3,000 ชิ้นต่อวัน คิดเป็นรายได้ต่อปีประมาณ 100 ล้านบาท เบื้องต้นพนักงานสอบสวนจะส่งเครื่องสำอางทั้งหมดส่งตรวจพิสูจน์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข หากผลการตรวจพบวัตถุหรือสารต้องห้ามเป็นส่วนผสม ก็จะเข้าข่ายความผิดฐานขายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้เพิ่มเติมด้วย ส่วนนายทุนจีนได้เดินทางออกนอกประเทศไปประมาณ 1 ปีแล้ว ซึ่งตำรวจก็จะประสานตำรวจสากลขอออกหมายแดง เพื่อติดตามตัวมาดำเนินคดีในไทยต่อไป อย่างไรก็ตาม เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า คดีนี้เป็นนายทุนจีนที่เปิดร้านค้าทางแพลตฟอร์มออนไลน์ ดังนั้นเจ้าหน้าที่จะประสานแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Shopee และ Lazada พิจารณาตรวจสอบและยกเลิกช่องทางการขายสินค้าทั้ง 44 ร้านค้า รวมถึงหามาตรการป้องกันการเปิดร้านค้าขายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานลักษณะนี้ในอนาคต เช่นการขึ้นแบล็กลิสต์บุคคลที่เปิดร้านค้าดังกล่าว นอกจากนี้ ตำรวจ บก.ปคบ.ยังร่วมกับ อย. ทลายโรงงานผลิต และ สถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ เมย่า อาร์เอ็ม รวม 3 จุด ในจังหวัดปทุมธานีและสมุทรสาคร หลังเจ้าหน้าที่ อย. ได้สุ่มสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวจากร้านค้าออนไลน์มาตรวจพิสูจน์ และพบสารไซบูทรามีน ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 1 ส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจและเลือด ทำให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตผู้บริโภค จึงได้นำหมายศาลเข้าตรวจค้น โดยจุดแรกเป็นสถานที่เกี่ยวกับผู้จำหน่ายในจังหวัดปทุมธานี พบนางสาวมณีรัตน์ เป็นเจ้าของแบรนด์ , จุดที่ 2 เป็นสถานที่เก็บ บรรจุ และกระจายสินค้า พบของกลางผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผงวัตถุดิบ และอุปกรณ์บรรจุหีบห่อจำนวนมาก เมื่อตรวจสารพบไซบูทรามีนในส่วนประกอบ , และจุดที่ 3 โรงงานผลิตในจังหวัดสมุทรสาคร พบนายนิคม รับเป็นเจ้าของโรงงาน และแม้ว่าโรงงานดังกล่าวจะเป็นสถานที่ผลิตอาหารที่ได้รับอนุญาตจาก อย. แต่เจ้าหน้าที่ตรวจสุขลักษณะสถานที่ผลิตอาหาร พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์ GMP ตามที่กฎหมายกำหนด มีข้อบกพร่องรุนแรง เช่น ห้องบรรจุไม่มีการป้องกันการปนเปื้อน , กระบวนการผลิตไม่มีการป้องกันการปนเปื้อน เป็นต้น และเมื่อนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวัตถุดิบในโรงงานมาตรวจสาร ก็พบไซบูทรามีนเช่นกัน รวมสามารถตรวจยึดของกลางผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผสมไซบูทรามีนได้รวม 34 รายการ มูลค่ากว่า 8 ล้านบาท จากการสอบถามนางสาวมณีรัตน์ รับว่า ตนเองเคยเป็นแม่ค้าขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทางออนไลน์ ต่อมาต้องการเป็นเจ้าของสินค้าเอง จึงได้สั่งซื้อผงวัตถุดิบที่ขายผ่านทางออนไลน์ โดยผงวัตถุดิบส่งมาจากภาคเหนือ ติดชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อได้รับผงวัตถุดิบแล้ว ก็ได้ส่งผลไปบรรจุลงแคปซูลที่โรงงานในจังหวัดปทุมธานีและสมุทรปราการ จากนั้นก็นำแคปซูลไปบรรจุลงแผงที่โรงงานที่สมุทรปราการซึ่งตำรวจเข้าตรวจค้น แล้วจึงสั่งพิมพ์กล่องบรรจุภัณฑ์แยกต่างหาก โดยทำมาประมาณ 1 ปีแล้ว สำหรับไซบูทรามีน หากมีการจำหน่าย จะเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ฐานจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือไซบูทรามีน โดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อการค้า ระวางโทษจำคุก 1-10 ปี และปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท