โควิด 19 หลังสงกรานต์ แห่รักษาในโรงพยาบาล เฉลี่ย 143 คนต่อวัน
วันที่ 24 เม.ย. 2567 เวลา 20:31 น.
กรมควบคุมโรค เผย หลังสงกรานต์ ผู้ป่วยโควิด 19 แห่รักษาในโรงพยาบาล เฉลี่ย 143 คนต่อวัน วันนี้ (24 เมษายน 2567) ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ผู้ช่วยอธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค ร่วมดำเนินการแถลงข่าวในหัวข้อ “เกาะติดสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพที่เป็นปัญหา” โรคโควิด 19 หลังเทศกาลสงกรานต์ มีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นกลุ่มเสี่ยง 608 ได้แก่ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ให้ระมัดระวัง หากมีอาการสงสัยป่วยควรปรึกษาแพทย์ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 14 – 20 เม.ย. 67) พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 ที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวน 1,004 ราย เฉลี่ย 143 รายต่อวัน พบผู้ป่วยมากขึ้นในพื้นที่กรุงเทพ ปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยว และพบผู้ป่วยอาการรุนแรงปอดอักเสบ 292 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 101 ราย เสียชีวิต 3 ราย ผู้เสียชีวิตทุกรายเป็นกลุ่มผู้สูงอายุหรือมีโรคเรื้อรัง เน้นย้ำประชาชนควรยังคงรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด หากไปในสถานที่ปิดหรือแออัด ควรสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ถ้าจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีคนหมู่มาก ควรสวมหน้ากากอนามัยเสมอ และล้างมือบ่อยๆ หากป่วยให้รีบไปพบแพทย์ ไข้หวัดใหญ่ ในช่วงนี้ยังคงพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง และพบผู้ติดเชื้อได้ทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วย จำนวน 128,156 ราย แนะนำประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ปีละ 1 ครั้ง เน้นย้ำประชาชน เช่นเดียวกับโรคโควิด 19 ควรยังคงรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด หากไปในสถานที่ปิดหรือแออัด ควรสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ หากป่วยให้รีบไปพบแพทย์ ไข้เลือดออก ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วย 24,108 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็ก 5-14 ปี และพบผู้เสียชีวิต 22 ราย ขอให้ประชาชนให้ช่วยกันสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค (โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา โรคติดเชื้อไวรัสซิกา) อย่างต่อเนื่อง หากมีอาการสงสัยป่วยไข้เลือดออก เช่น มีอาการไข้สูงลอย คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง มีผื่น มีจุดเลือดที่ลำตัว ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ยาลดไข้ที่ปลอดภัยคือยาพาราเซตามอล ควรหลีกเลี่ยงยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค แอสไพริน รวมถึงยาชุดซึ่งอาจมีผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น เลือดออกในทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา ทั้งนี้หากรับประทานยาลดไข้หรือเช็ดตัวแล้ว ไข้ไม่ลดภายใน 1-2 วัน (นับจากวันที่เริ่มมีไข้) ควรรีบไปพบแพทย์ทันที