"พิชัย" ผิดหวังกับ "แบงก์ชาติ" ไม่ลดดอกเบี้ย
วันที่ 17 เม.ย. 2567 เวลา 17:42 น.
“พิชัย” ร่ายยาว ผิดหวัง “แบงก์ชาติ” ไม่ลดดอกเบี้ย ไม่เดือดร้อน ทั้งที่ภาพรวมเศรษฐกิจแย่ แนะตั้งหลักคิดใหม่ ยึดประโยชน์ประเทศ และความสุข ปชช. เป็นหลัก อย่าคิดเพียงว่าเป็นอิสระ แต่ประชาชนเดือดร้อน วันนี้ (17 เม.ย. 67) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์และการเมืองพรรคเพื่อไทย ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมาก ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. มีมติไม่ลดดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งที่สภาวะเศรษฐกิจของไทยกำลังย่ำแย่ จีดีพีในไตรมาสแรกของปีนี้จะออกมาไม่ดี และจะทำให้ต้องปรับลดการขยายตัวเศรษฐกิจทั้งปีลดลง และเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปีที่แล้วต่ำกว่าไตรมาส 3 แล้ว และเงินเฟ้อติดลบ 6 เดือนติดกัน ทำประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดทางเทคนิคแล้ว แม้แบงก์ชาติจะอ้างว่า ตั้งแต่พฤษภาคมปีนี้ เงินเฟ้อจะดีขึ้น ซึ่งก็เพราะตั้งแต่พฤษภาคม ปี 66 ที่ผ่านมา เงินเฟ้อไทยก็เริ่มย่ำแย่แล้วที่ 0.53% และก็อยู่ระดับต่ำมาตลอด จนกระทั่งติดลบในเดือนตุลาคมที่ - 0.31% และติดลบต่อเนื่องมาอีก 6 เดือน ดังนั้น ถ้าครึ่งปีหลังเงินเฟ้อจะดีขึ้น ก็เพราะปีที่แล้วเงินเฟ้อตั้งแต่พฤษภาคมก็ย่ำแย่อยู่แล้วไม่ได้แปลว่าสภาวะดีขึ้น นอกจากนี้ การที่ ธปท. อ้างว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายที่ 2.6% และ ปีหน้าจะขยายได้ 3% เป็นที่น่าพอใจ ทำให้สงสัยว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจน่าจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะกำหนดมากกว่า ธปท. จะมากำหนด และจะบอกว่าพอใจหรือไม่พอใจ ใช่หรือไม่ ธปท. ควรจะต้องดำเนินนโยบายทางการเงินเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางรัฐบาลมากกว่าที่จะตัดสินเองว่าเศรษฐกิจขยายตัวขนาดไหนถึงเหมาะสม เพราะรัฐบาลอยากให้เศรษฐกิจขยายตัวให้ได้ 5% ตามศักยภาพที่น่าจะทำได้ แต่ ธปท. กลับเห็นว่าศักยภาพไทยอยู่เพียง 3% หรือลดศักยภาพไทยลงมา ซึ่งไม่ตรงกับแนวทางของรัฐบาล และหากเป็นแบบนี้ไทยจะไม่สามารถเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้เลย เพราะขนาดขยายตัวปีละ 5% ประเทศไทยต้องเวลาถึงประมาณ 20 ปีถึงจะเป็นประเทศรายได้สูงได้ ถ้าขยายตัวปีละ 2-3 % คงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเป็นประเทศรายได้สูง และการปรับโครงสร้างดอกเบี้ยทั้งการลดดอกเบี้ยนโยบายและการลดช่วงห่างของดอกเบี้ยเงินกู้เงินฝาก (NIM) จะเป็นการปรับโครงสร้างของประเทศตามที่ ธปท. แนะนำเองด้วย นายพิชัย กล่าวอีกว่า ในหลายประเทศที่ธนาคารกลางเป็นอิสระ แต่ก็ต้องทำงานสอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาล อาจจะขัดกันได้บ้างในบางเรื่อง แต่ไม่ใช่เรื่องหลัก หรือเรื่องที่เป็นนโยบาย โดยยึดประโยชน์ของประเทศและการกินดีอยู่ดีของประชาชนเป็นหลัก หากจะยึดความเป็นอิสระโดยไม่ได้มองเห็นประโยชน์ของประเทศและความเดือดร้อนของประชาชน ทำให้สงสัยว่าธนาคารกลางยังควรจะเป็นอิสระต่อไปอีกหรือไม่ และควรต้องขึ้นกับรัฐบาลหรือไม่ เพราะจะได้ทำงานสอดคล้องกัน เช่น ประเทศจีน ที่ธนาคารกลางประเทศจีน คงไม่ขวางแนวทางของรัฐบาลจีน เศรษฐกิจจีนก็ขยายตัวได้ดีมาตลอด หรือแม้กระทั่งประเทศสิงคโปร์ที่เป็นประเทศรายได้สูงแล้วก็เป็นเช่นกัน ดังนั้น จึงอยากให้ ธปท. ได้ตั้งหลักคิดใหม่ โดยยึดประโยชน์ของประเทศและความสุขประชาชนเป็นหลัก อย่าคิดแค่เพียงว่าเป็นอิสระแต่ประชาชนเดือดร้อนและเศรษฐกิจไทยไม่ได้ขยายตัวไปถึงไหนเลย ทั้งนี้ เสถียรภาพทางการเงินที่ ธปท. ชอบอ้างถึง แต่ถ้าหากเศรษฐกิจขยายตัวต่ำมาตลอดเป็นเวลานาน ประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้ไม่พอเลี้ยงชีพ สุดท้ายปัญหาทางสังคมจะตามมาโดยเฉพาะอาชญากรรม การจี้ ปล้น เรียกค่าไถ่ ฯลฯ เหมือนที่เกิดขึ้นในอเมริกาใต้ เมื่อถึงตอนนั้นเสถียรภาพก็จะไม่เกิด จะมีแต่ปัญหาทางเศรษฐกิจและอาชญากรรมตามมา จึงอยากให้ ธปท. พิจารณาให้ครบทุกด้าน อย่าเพียงอ้างเพียงกรอบคิดเดียว หรือเป็นอิสระอย่างเดียว ปัญหามากมายจะเกิดขึ้นตามมาได้ ซึ่งคงไม่มีใครอยากให้เป็นเช่นนั้น ดังนั้น การขยายตัวเศรษฐกิจที่สูงจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น