ปม ธ.ก.ส.ส่อทำ ดิจิทัลวอลเล็ต สะดุด?

วันที่ 15 เม.ย. 2567 เวลา 07:12 น.

สนามข่าว 7 สี - ที่ใคร ๆ หวังว่าจะได้เงินหมื่นจากโครงการ "ดิจิทัลวอลเล็ต" กันง่าย ๆ ตอนนี้ไม่ง่ายเสียแล้ว เพราะมีหลายฝ่ายออกมาท้วงติงเรื่องการนำเงิน ธ.ก.ส. มาแจก ทำได้ไหม ผิดกฎหมายหรือไม่ ที่มาของเงิน 5 แสนล้านบาท ที่นำมาแจกให้ประชาชน 50 ล้านคน จำนวนถึง 172,300 ล้านบาท ดึงมาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธ.ก.ส. ไม่เพียงทำให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ธ.ก.ส. เท่านั้นที่สงสัยทำได้หรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่ อาจารย์สมชัย ศรีสุทธิยากร ก็ชี้ให้เห็นว่า ที่บอกว่ากู้นั้นก็ผิดอาการหนักแล้ว ถ้าบอกว่าถึงขั้นยืม ที่ไม่รู้จะใช้คืนเมื่อไหร่ และไม่มีดอกเบี้ยด้วย อาจเข้าข่ายขัด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ  อาจารย์สมชัย บอก จองศาลากันได้เลย ทั้งคนยืม คือ ครม.ทั้งคณะ และคนให้ยืม คือ บอร์ดและผู้บริหาร ธ.ก.ส. ที่ต้องรับผิดชอบ เช่นเดียวกับ อาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ ที่บอกว่า การเอาเงิน ธ.ก.ส. ไปแจก ไม่น่าจะทำได้ตามกฎหมาย และการนำเอาคำว่า "พัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร" มาใช้ เป็นการบิดเบือนการใช้กฎหมายที่เลวร้ายกว่าศรีธนญชัย อย่างไรก็ตาม นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ที่ตอนนี้อยู่ระหว่างช่วงหยุดยาววันสงกรานต์ พักผ่อนอยู่กับภริยาที่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พอเดินตลาด ทำบุญใส่บาตร ก็เจอชาวบ้านถามดัง ๆ ว่า เมื่อไหร่จะได้เงินหมื่นเสียที เราไปฟังเสียงนายกรัฐมนตรียืนยันเรื่องนี้กัน วิบากกรรมในโครงการนี้ยังไม่หมด เพราะหลายคนกังวล ปมร้านสะดวกซื้อร่วมโครงการ "ดิจิทัล วอลเล็ต" จะเอื้อประโยชน์กลุ่มนายทุนนั้น กระทรวงการคลัง ย้ำเงื่อนไขร้านค้าเข้าร่วมโครงการ ยืนยัน ร้านสะดวกซื้อ มีสิทธิ์ร่วมโครงการ แม้ชาวเน็ตฯ แชร์ข้อมูลร้านสะดวกซื้อของนายทุนใหญ่มีมากกว่า 13,600 สาขาทั่วประเทศ ยังไม่นับรวมการขยายสาขาในปีนี้ กังวลว่า ท้ายที่สุดผลประโยชน์จะตกอยู่ในมือนายทุนใหญ่ เรื่องนี้ นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า ร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการฯ ต้องเป็นร้านค้าขนาดเล็ก ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ ทั้งร้านค้าโชห่วย ร้านสะดวกซื้อ ระยะหลังร้านค้าขนาดเล็กยกระดับเป็นร้านสะดวกซื้อ ส่วนหลักการได้รับเงินของร้านค้าที่ร่วมโครงการฯ คือ เมื่อร้านค้าได้รับวงเงินจากการจับจ่ายของประชาชนมาแล้ว จะสามารถใช้ต่อได้ในรอบการใช้จ่ายของประชาชนวงรอบที่ 2 โดยนำไปใช้จ่ายในร้านค้าขนาดใหญ่ขึ้น หรือเป็นการซื้อขายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ที่อยู่ในระบบภาษี ร้านค้านั้นจึงจะสามารถเอาเงินออกจากระบบได้ โครงการเติมเงิน "ดิจิทัล วอลเล็ต" จะเริ่มเปิดลงทะเบียนในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2567 ประชาชนจะสามารถใช้จ่ายได้ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2567 ส่วนช่องทางการใช้จ่ายนั้น ต้องใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ส่วนสาเหตุไม่เลือกใช้แอปพลิเคชันเป๋าตัง เนื่องจากแอปฯ ทางรัฐ เป็นแอปฯ ของรัฐ แต่แอปฯ เป๋าตัง เป็นของธนาคารฯ เป๋าตังอาจจะยังต้องใช้ แต่เป็นระบบด้านหลัง หรือที่เรียกกันว่า ระบบหลังบ้าน