พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ไปตรวจเยี่ยมการทำงานของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่
วันที่ 14 เม.ย. 2567 เวลา 20:01 น.
ที่ห้องประชุมหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง เป็นประธานประชุมติดตามการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคเหนือ โดยมีอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร, ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุมรายงานสถานการณ์ต่าง ๆ อาทิ การปฏิบัติการฝนหลวง ให้มีฝนตกในพื้นที่ที่ต้องการซึ่งเป็นการเร่งกระบวนการทางธรรมชาติให้เกิดเป็นเมฆและพัฒนาตัวเป็นเม็ดฝนตกไปยังพื้นที่เพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควัน, บรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง รวมถึง การยับยั้งการพัฒนาตัวของกลุ่มเมฆขนาดใหญ่ที่มีโอกาสการเกิดเป็นพายุลูกเห็บในช่วงรอยต่อระหว่างฤดูร้อนและฤดูฝน ปัจจุบัน หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ มีเครื่องบินใช้สำหรับปฏิบัติการฝนหลวง คือ ชนิด CASA ขนาดเล็ก จำนวน 5 ลำ, ชนิด CN ขนาดกลาง จำนวน 1 ลำ , เฮลิคอปเตอร์ จำนวน 1 ลำ และได้รับการสนับสนุนเครื่อง Alpha Jet จากกองทัพอากาศ จำนวน 1 ลำ นอกจากนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังได้ทำงานร่วมกับกองทัพภาคที่ 3 และจังหวัดเชียงใหม่ ในภารกิจการทิ้งน้ำดับไฟป่าในพื้นที่ภูเขาที่มีความลาดชันซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเดินเท้าไปยังพื้นที่ได้ จากนั้น องคมนตรี เดินทางไปยังท่าอากาศยานทหารกองบิน 41 เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ในภารกิจการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและหมอกควันในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียง ซึ่งที่ผ่านมากรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อแก้ไขปริมาณฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นมาใหม่อย่างรวดเร็ว โดยระหว่างวันที่ 8 มกราคม ถึง 13 เมษายน 2567 ได้ปฏิบัติการ 82 วัน 314 เที่ยวบิน ในพื้นที่ 15 จังหวัด ประกอบด้วย ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ พะเยา แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน สุโขทัย เชียงราย อุตรดิตถ์ ตาก พิษณุโลก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ และพิจิตร ซึ่งพบว่าหลังปฏิบัติการค่าฝุ่นลดลง ทั้งนี้ ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ปฏิบัติการฝนหลวงและใช้เทคนิคการดัดแปรสภาพอากาศในการบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ปัญหาหมอกควันไฟป่า และปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นการสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสืบสานพระราชดำริ "ฝนหลวง" ในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อให้ราษฎรทุกหมู่เหล่ามีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน