เศรษฐา แจงกระตุ้นอสังหา ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ย้ำจุดยืนอัตราดอกเบี้ย ไม่ได้กดดัน ผู้ว่าฯ ธปท.
วันที่ 11 เม.ย. 2567 เวลา 13:48 น.
ไม่เอื้อนายทุน เศรษฐา แจง นโยบายกระตุ้นอสังหา ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ย้ำจุดยืนอัตราดอกเบี้ย ไม่ได้กดดัน ผู้ว่าฯ ธปท. ชี้ กนง. คงอัตราดอกเบี้ย กดอัตราการซื้อบ้าน เชื่อประชาชนตัดสินเองได้ควรลดหรือไม่ วันนี้ (11 เม.ย.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่มีเสียงวิจารณ์ว่าเอื้อนายทุนว่า เรื่องลงทุนต้องดูให้ครบ หลายรัฐบาลที่ผ่านมาก็มีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ เพราะการพิจารณาออกนโยบายต้องผ่านหลายขั้นตอนทั้งกระทรวง ทบวง กรม รวมถึงกฤษฎีกา และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ได้ให้ความเห็นมา สำหรับอสังหาริมทรัพย์ หากดูในแง่ของเศรษฐกิจโดยรวม คนซื้อบ้าน 1 หลังซื้ออะไรบ้าง ทั้งวัสดุตกแต่ง เครื่องใช้ไฟฟ้า เกิดเงินหมุนเวียนในหลายระบบอุตสาหกรรม ซึ่งหลายอุตสาหกรรมก็มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้วย อีกทั้งที่พักอาศัยก็ถือเป็นลงทุนเพื่อการออมอย่างหนึ่ง และไม่ใช่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของผู้ประกอบการเพียงอย่างเดียว คนที่จะสร้างบ้านเอง ก็มีส่วนร่วมในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย ส่วนเรื่องการคงอัตราดอกเบี้ย ก็เป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจซื้อบ้าน เพราะล่าสุด กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ดอกเบี้ยก็เป็นประเด็นหนึ่งที่กดอัตราการซื้ออสังหา ส่วนตัวคิดว่าจุดยืนของตนเองชัดเจนเรื่องอัตราดอกเบี้ย เดี๋ยวจะหาว่าไปกดดัน ผู้ว่าฯ ธปท. อีก เพราะผู้ว่าฯ ธปท.ต้องมีอิสระ แต่ก็ฝากไว้ว่าความเป็นอิสระ มันไม่ได้อิสระจากความลำบากของประชาชน ขอให้นึกถึงความลำบากของประชาชนด้วย วันนี้ตนเองไม่ได้กดดันอะไรแล้ว แต่ผลที่ออกมา เชื่อว่าประชาชนจะตัดสินเองว่าควรจะต้องลดหรือไม่ต้องลด ขณะที่นักวิชาการทั้งหมดก็เห็นด้วยในการลดอัตราดอกเบี้ย เมื่อลดไปแล้ว เชื่อว่าผลข้างเคียงทางเศรษฐกิจจะเป็นบวกมากกว่าลบ ไม่ว่าจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อน ซึ่งเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทยดีขึ้น เราพึ่งการส่งออก 60% ของจีดีพี การท่องเที่ยวอีก 20% 1 ดอลลาร์ สามารถแลกได้ 36 , 37 ,38 บาท มีเงินจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ซึ่งนักท่องเที่ยวก็ไม่ได้อยู่แต่โรงแรมใหญ่ๆ หรือเอื้อแต่เจ้าสัวเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของการชอปปิง รับประทานอาหาร ทุกคนได้ประโยชน์ ตนเองเชื่อว่าเป็นเศรษฐศาสตร์พื้นฐานที่ทุกคนทราบดี ตนเองไม่รู้จะพูดอย่างไรต่อไป เพราะพูดมาเยอะแล้ว และพูดมาพอแล้ว ก็เป็นหน้าที่ให้คนอื่นพูดบ้าง