“หมอยง” บอกแล้ว “แบคทีเรียกินเนื้อ” ไม่ใช่โรคใหม่ สามารถรักษาได้ ส่วนใหญ่เกิดกับผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ
วันที่ 1 เม.ย. 2567 เวลา 10:22 น.
“หมอยง” เผย “แบคทีเรียกินเนื้อ” สามารถรักษาได้ ด้วยยาปฏิชีวนะ ส่วนใหญ่เกิดกับผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ วันนี้ (1 เม.ย.67) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “แบคทีเรียกินเนื้อ” ว่า ไม่ใช่โรคใหม่ ส่วนใหญ่เกิดกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ กินยากดภูมิต้านทาน หรือมีโรคที่ทำให้ภูมิต้านทานต่ำ ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด ส่วนที่มีข่าว “แบคทีเรียกินเนื้อ” มากในขณะนี้ ศ.นพ.ยง ระบุว่า เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus group A เป็นแบคทีเรียที่เกิดโรคได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในคนที่แข็งแรงดีก็จะไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่โต สามารถรักษาได้ แต่ถ้าภูมิต้านทานต่ำ และการติดเชื้อที่ผิวหนังก็จะทำให้ลุกลามอย่างรวดเร็วได้ อย่างที่เป็นข่าวในประเทศญี่ปุ่น ในประเทศไทยก็พบได้ แต่ไม่ได้มากมายและสามารถรักษาได้ มียาปฏิชีวนะที่รักษาเชื้อดังกล่าว นอกจากนี้ ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า ยังมีแบคทีเรียอย่างอื่นอีกหลายชนิดที่อาจจะรุกลามอย่างรวดเร็ว เช่น Clostridium perfringens ทำให้เกิด Gas gangrene เคยเห็นคนไข้แล้ว น่ากลัวมาก และ ได้รับข้อมูลจากทีมงานด้วยว่า ผู้ป่วยที่เกิดการอักเสบของแบคทีเรีย จะเรียกว่ากินเนื้อก็ได้ ซึ่งเกิดจากแบคทีเรียที่อยู่ในน้ำทะเล โดยทั่วไปจะเป็น Shewanella algae แต่รายงานนี้เป็นรายงานแรกที่รับแจ้งว่า เกิดจากเชื้อ Shewanella haliotis ในผู้ป่วยที่กินยากดภูมิต้านทาน แบคทีเรียตัวนี้พบครั้งแรกพบในหอยเป๋าฮื้อ และ ได้เผยแพร่ข้อมูลนี้ผ่านวารสาร EID แล้ว