หนอนไหมอีรี่ พัฒนาเป็นขนมขบเคี้ยวโปรตีนสูง ดันเข้าตลาดโลก
วันที่ 22 มี.ค. 2567 เวลา 10:47 น.
หนอนไหมอีรี่ตัวดักแด้มีโปรตีนสูงถึง 70% ดักแด้ที่เหลือจากการสาวไหมแล้ว มีปริมาณมากถึง 3-4 ตัน/เดือน อว.หนุนพัฒนาเป็นขนมขบเคี้ยวโปรตีนสูง ดันเข้าตลาดโลก รับเทรนด์อาหารแห่งอนาคต วันนี้ (22 มี.ค. 67) นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ในตลาดโลกมีแนวโน้มเติบโตอย่างมาก อีกทั้งประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก จึงได้มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอาหารชุมชน สนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีโอกาสพัฒนานวัตกรรมอาหารในรูปแบบใหม่ที่แตกต่าง ตรงความต้องการของตลาด และสามารถสร้างความได้เปรียบในตลาดภายในประเทศและตลาดโลก ด้าน นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) เปิดเผยว่า วศ. ส่งเสริมให้นำวัตถุดิบอาหารแมลงที่มีโปรตีนสูงและเป็นส่วนเหลือจากกระบวนการผลิตเส้นไหมมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพความปลอดภัย ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนพัฒนาเทคนิคการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพให้ทันสมัย จะเป็นการผลักดันธุรกิจอาหารของประเทศให้เข้มแข็งเติบโตอย่างยั่งยืน ล่าสุด ทีมนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการอาหาร วศ. ได้ร่วมมือกับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 5 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จ.ขอนแก่น ถ่ายทอดเทคโนโลยีกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวโปรตีนสูงจากหนอนไหมอีรี่ ให้กับผู้ประกอบการกลุ่มทอผ้าบ้านหนองหญ้าปล้อง อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น โดยใช้โรงงานต้นแบบอาหารเพื่อให้ผู้ประกอบการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ฯ ไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวโปรตีนสูงจากหนอนไหมอีรี่ในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ จากนี้ทีมวิจัยฯ ได้ตั้งโจทย์ร่วมกับกลุ่มทอผ้าบ้านหนองหญ้าปล้องฯ ในการนำหนอนไหมอีรี่มาเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่เหมาะสมกับตลาดชุมชน ทางกลุ่มมีการเลี้ยงหนอนไหมอีรี่ทั้งชุมชน มีการผลิตดักแด้เพื่อนำมาทอเป็นผ้าไหมอีรี่ส่งขายตลาดภายในและต่างประเทศ แต่ในส่วนตัวดักแด้ที่เหลือจากการสาวไหมแล้ว มีปริมาณมากถึง 3-4 ตัน ต่อเดือน ซึ่งหนอนไหมอีรี่ เป็นตัวดักแด้มีโปรตีนสูงถึงร้อยละ 70 จึงมีสามารถนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารจำหน่าย ลดการตกค้างของตัวดักแด้จำนวนมาก ทีมวิจัยฯ ได้นำตัวดักแด้จากหนอนไหมอีรี่มาวิจัยพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวโปรตีนสูงจากหนอนไหมอีรี่ ผ่านกระบวนการประเมินคุณภาพทางประสาทสัมผัสกับผู้บริโภค ในห้องปฏิบัติการทดสอบรสชาติอาหารไทย และทดสอบคุณภาพความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ในห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพอาหาร ของ วศ. ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวโปรตีนสูงจากหนอนไหมอีรี่ที่มีคุณภาพความปลอดภัย รสชาติเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคและเก็บรักษาไว้ได้นาน