ดรามางานวิจัยกินแบบ IF หมอสมองอธิบาย 3 เหตุผลทำไมเสี่ยงตาย

วันที่ 20 มี.ค. 2567 เวลา 16:47 น.

กินแบบ IF ผอมง่าย ตายเร็ว หมอสมองอธิบายให้คนที่กำลังสงสัย 3 เหตุผล ทำไมจำกัดการกินอาหารเป็นช่วงเวลาใน 8 ชม. ทำให้มีอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดเพิ่มขึ้น  ดรามางานวิจัย IF กินนานๆ เสี่ยงตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองมากขึ้น วันนี้ (20 มี.ค.67) ผศ.นพ. สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์ประสาทวิทยา ผู้เชี่ยวชาญระบบประสาทและสมอง คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นผ่านเพจสาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์ โดยอารย์หมอสุรัตน์ อธิบายถึงการกิน IF หรือ Intermittent Fasting ว่าคือการกินและอดอาหารเป็นช่วง ๆ เป็นที่นิยมเนื่องจาก ทำให้ควบคุมน้ำหนักได้ โดยกระบวนการทำ IF มีหลายแบบ และแบบหนึ่งที่เป็นที่นิยมได้แก่ การจำกัดเวลาในการทานอาหาร หรือ Time Restricted Eating (TRE) ในขณะที่การอดและทานอาหารเป็นช่วงแบบนี้ ทำให้เกิดการเผาผลาญและลดปริมาณ calorie และพุ่งเป้าไปที่การลดน้ำหนักและงานวิจัยล่าสุดกลับชี้ให้เห็นว่ามันเกิดผลเสียและเสี่ยงต่อโรคหัวใจและอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็ง ในงานประชุม American Heart Association Epidemiology and Prevention/Lifestyle and Cardiiometabolic Health Scientific session 2024 ในเมือง Chicago USA ได้มีงานวิจัยแสดงถึงอันตรายของการทำ IF ชนิดจำกัดการกินอาหารเป็นช่วงเวลาภายใน 8 ชั่วโมง งานวิจัย ได้เริ่มศึกษาคนจำนวน 20,000 คน โดยอายุเฉลี่ย 49 ปี (แต่นำเอาคนอายุน้อย ตั้งแต่ 20 ปีเข้ามาด้วย) และติดตามไประยะเวลาโดยเฉลี่ย 8 ปี และยาวที่สุด 17 ปี  พบว่า ผู้ที่จำกัดการกินอาหารใน 8 ชั่วโมงมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งก็ได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือด และ โรคหลอดเลือดสมอง เพิ่มขึ้นสูงถึง 91% และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคหัวใจอยู่แล้วและโรคมะเร็งก็จะยิ่งตายจากโรคหัวใจมากขึ้น และเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่กินแบบปกติคือในช่วง 12-16 ชั่วโมงระหว่างวัน ก็พบว่า คนที่กินอาหารจำกัดใน 8 ชั่วโมง ไม่ได้มีอายุที่ยืนยาวแต่อย่างใด นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องรู้ว่า การกินอาหาร IF แบบนี้ แม้ว่าอาจทำให้มีผลดีเช่น ลดน้ำหนักในระยะสั้น แต่ผลในระยะยาวกลับอันตราย อาจารย์หมอสุรัตน์ ให้คำอธิบายสำหรับคนที่สงสัยว่า ทำไมการจำกัดการกินอาหารเป็นช่วงเวลาใน 8 ชั่วโมง ถึงทำให้มีอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดเพิ่มขึ้น ซึ่งมีคำอธิบายที่อาจเป็นไปได้ ดังนี้ 1. ช่วงเวลาที่จำกัดในการกินอาหารทำให้คนรีบกินอาหารในช่วงเวลานั้นมากเกินไป ซึ่งก็อาจจะรวมอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพด้วย เรียกว่า มีเวลากินน้อย ก็จัดเต็มเหนี่ยว 2. ช่วงเวลาที่อดอาหารที่ยาวนาน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ และกระตุ้นภาวะเครียดของร่างกาย stress แล้ว เจ้า stress นี้หากเกิดนาน ๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือด เกิดหลอดเลือด ไม่ยืดหยุ่น จนในที่สุดตีบตันได้ 3. การทานเป็นช่วงและไม่ปกติ ทำให้เกิดภาวะ metabolic dysregulation คือ การแปรปรวนของระบบเผาผลาญ ทำให้มีการเกิดหลอดเลือดแข็งตัวระยะยาวได้ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยที่บอกความสัมพันธ์ ซึ่งจริง ๆ มันมี confounding factor หรือปัจจัยที่คุมไม่ได้อีกเยอะ เช่น ลักษณะอาหารที่รับประทาน คือ คนที่ทำ IF บางคนก็กินเยอะไปในเวลาที่จำกัด ทำให้มีการกระตุ้นระบบเผาผลาญเป็นรอบ ๆ เป็น peak ร่างกายเกิดการปรับตัวไม่ดี หรือยังมีปัญหาเรื่องไลฟ์สไตล์อื่น ๆ อีกด้วย “สรุป จำกัดระยะเวลากินนานๆ อาจจะมีโทษถึงตาย แต่กินอาหาร ผัก ปลา ออกกำลังกายดีกว่า และอย่าไปเทียบกับพระ นะครับ ไลฟ์สไตล์ คนละเรื่อง คนละกลุ่มประชากร” อาจารย์หมอสุรัตน์ ระบุทิ้งท้าย