กล่าวหาผู้ว่าฯ ดับไฟป่า-งบเงินทอน รัฐบาลสั่งสอบขอให้ บก.ลายจุด ส่งข้อมูล
วันที่ 17 มี.ค. 2567 เวลา 15:28 น.
รัฐบาลสั่งสอบดับไฟป่า-งบเงินทอน ขอ บก.ลายจุดส่งข้อมูล ตามที่พูดในไลฟ์กล่าวหาผู้ว่าฯไม่กล้าประกาศภัยพิบัติเพราะไม่มีงบเหลือ เป็นเงินทอนให้กับบริษัทที่รออยู่แล้ว ลั่นพบผิดจริงจัดการตามกฎหมายเด็ดขาด แต่การไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่แล้วได้ข้อมูลว่า เงินยังไม่ถึงมือนั้น อาจเกิดขึ้นได้ใน 2 กรณี ไลฟ์ดับไฟป่าของพรรคก้าวไกลกับมูลนิธิกระจกเงา ที่มีช่วงหนึ่งที่นายสมบัติ บุญงามอนงค์ พูดคุยกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่กล้าประกาศภัยพิบัติ เป็นเพราะไม่มีงบเหลือแล้ว เพราะงบภัยพิบัติเป็นงบที่ทดลองจ่ายให้กับบริษัทที่รออยู่แล้ว งบจังหวัดเป็นเงินทอน ดังนั้นพอเกิดภัยพิบัติจริงเลยไม่มีงบเหลือแล้ว วันนี้ (17 มี.ค.67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่ารัฐบาลได้สั่งให้มีการตรวจสอบแล้ว โดยแบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ ที่ว่า “งบภัยพิบัติ” เป็นงบทดลองจ่ายให้กับบริษัทที่รออยู่แล้วนั้น เป็นงบทดลองจ่ายเรื่องอะไร ทำไมต้องเอางบภัยพิบัติไปจ่าย จ่ายให้กับบริษัทอะไร จ่ายไปเป็นเงินเท่าไร บริษัทรออะไรอยู่ และที่ว่า “งบจังหวัด” เป็น “เงินทอน” นั้น เป็นเงินทอนค่าอะไร ทอนให้ใครอย่างไร ยอดเงินทอนทั้งหมดเท่าไร โฆษกรัฐบาล ระบุด้วยว่า เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบและเป็นการสนับสนุนให้การแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส ขอให้นายสมบัติ โปรดให้ข้อมูลรายละเอียดตามประเด็นข้อสงสัย พร้อมส่งมอบหลักฐานตามคำกล่าวหาที่ปรากฏอยู่ในบทสนทนากับนายพิธาให้กับทางรัฐบาล โดยสามารถส่งมอบผ่านนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง หากตรวจสอบแล้วว่าเรื่องนี้มีหลักฐานเชื่อถือได้ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง รัฐบาลก็จะเร่งดำเนินการตามกฏหมายโดยเด็ดขาดทันที “ขอขอบคุณประชาชนทุกฝ่ายที่ได้แจ้งเบาะแสที่น่าสงสัยมายังรัฐบาลว่า อาจมีการดำเนินการที่ไม่โปร่งใสในการแก้ไขปัญหาดับไฟป่า-ลดฝุ่นควันอันตรายที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้” โฆษกรัฐบาล ชี้แจงด้วยว่า ปกติภารกิจในการดับไฟป่านั้น จะมีการแบ่งบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบกัน ดังนี้ 1ไฟป่าที่เกิดในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ กรมป่าไม้ได้ถ่ายโอนความรับผิดชอบในการเฝ้าระวังและดับไฟป่าไปให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่มานานหลายปีแล้ว งบประมาณที่ใช้หลักๆก็จะมาจากกระทรวงมหาดไทย (มท.) ส่วนทางกรมป่าไม้ก็จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุนอีกชั้นหนึ่ง 2 ไฟป่าที่เกิดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จะเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในส่วนนี้ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะสนับสนุนด้านงบประมาณให้ ปกติ เจ้าหน้าที่ดับไฟป่า (ไม่ว่าจะสังกัดหน่วยงานไหน) ที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่แล้ว จะมีรอบของการเบิกค่าจ้างและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในทุกๆ 2 สัปดาห์ ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่กลุ่มนี้จะรู้และเข้าใจวิธีการปฏิบัติในการเบิกจ่ายเงินของทางราชการดีอยู่แล้ว ยกเว้นผู้ปฏิบัติงานชั่วคราวที่ถูกจ้างมาทำหน้าที่เฉพาะกิจ เวลาจะทำเรื่องขอเบิกจ่ายค่าจ้างอาจจะมีปัญหาขลุกขลักบ้างในขั้นตอนของทางราชการ "งบกลาง 272 ล้านบาทที่ ครม.เพิ่งจะอนุมัติไปเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2567 เพื่อจ้างงานชั่วคราวในการจัดตั้งชุดเฝ้าระวังไฟป่าเฉพาะกิจจำนวนราวๆ 2,500 ชุด ระยะเวลา 3 เดือน นั้น เงินงบประมาณได้ไปถึงกระทรวงทรัพย์ฯ แล้ว เมื่อวันที่ 15 มี.ค.67 คาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะสามารถเริ่มนำไปใช้จ่ายได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ผู้ปฏิบัติงานชั่วคราวในกลุ่มนี้ เมื่อถึงรอบการเบิกจ่ายค่าจ้าง อาจจะมีบางท่านที่ขาดความรู้ความเข้าใจที่ดีพอในการเบิกจ่ายเงินหลวง ดังนั้น ในระยะต้นๆอาจจะมีปัญหาขลุกขลักเกิดขึ้นได้บ้าง" โฆษกรัฐบาล ระบุด้วยว่า การไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่แล้วได้ข้อมูลว่า เงินยังไม่ถึงมือนั้น อาจเกิดขึ้นได้ในกรณีต่อไปนี้ 1.การเบิกจ่ายเงินของราชการนั้น มีรายละเอียดแบบฟอร์มที่ต้องกรอกและมีหลักฐานที่ต้องแนบ เจ้าหน้าที่บางท่านอาจจะทำเรื่องไม่ครบตามระเบียบของทางราชการ ทำให้การเบิกจ่ายล่าช้าได้ 2.หากไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ในพื้นที่ ซึ่งไม่มีหน้าที่รับผิดชอบในการดับไฟป่าอยู่แล้ว (เพราะโอนไปให้ท้องถิ่นแล้ว) เขาก็ต้องตอบว่า ไม่เคยได้รับเงินค่าจ้างในการดับไฟป่าเลย ถ้าคนถามไม่รู้มาก่อนว่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้ไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงในการดับไฟป่า ก็อาจจะเข้าใจผิดได้ว่า ทำไมเม็ดเงินจึงไม่มาถึงมือของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่