องคมนตรี ตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี

วันที่ 11 มี.ค. 2567 เวลา 20:06 น.

ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนพระนครศรีอยุธยา พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี รองประธานคณะกรรมการมูลนิธิราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิด "โครงการ save ทุกดวงใจไทย" ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-12 มีนาคมนี้ โอกาสนี้ เชิญกระเช้าสิ่งของ และเสื้อ "save ทุกดวงใจไทย" พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปมอบแก่เจ้าหน้าที่ และเยาวชน ซึ่งมูลนิธิราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ จัดกิจกรรมดูแลสุขภาพเด็กและเยาวชน ในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน 20 แห่ง และสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน 38 แห่งทั่วประเทศ วันนี้ มีเด็กและเยาวชน เข้าร่วมกิจกรรม 77 คน  มีผู้ทรงคุณวุฒิ และวิทยากร ไปอบรมให้ความรู้ด้านการพัฒนาจิตใจ ฝึกทักษะการสังเกต วิเคราะห์ วางแผน และแก้ไขปัญหาอย่างมีระบบ จากนั้น เดินทางไปยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีเด็กและเยาวชนชาย อายุ 12-18 ปี ในความดูแล 21 คน ส่วนใหญ่กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด, ชีวิตและร่างกาย และความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนและวัตถุระเบิด โดยมีแพทย์จากโรงพยาบาลแม่ข่าย คือ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา เข้าตรวจร่างกาย สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ส่วนศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนพระนครศรีอยุธยา มีเด็กและเยาวชนในความดูแล 16 คน เพื่อแก้ไข บำบัด และฟื้นฟูยาเสพติด มีการประเมินสุขภาพตามแบบสภาวะสุขภาพแบบองค์รวมเด็กและเยาวชน คัดกรองและจำแนกการใช้ยาเสพติดในเด็กและเยาวชน วางแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูรายบุคคล มีการตรวจปัสสาวะ เดือนละ 1 ครั้ง  ในช่วงบ่ายเปิด "โครงการอบรมหลักสูตรการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพรูปแบบชุมชนบำบัดและ FAST Model" ณ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ซึ่งมูลนิธิฯ ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม และกระทรวงสาธารณสุข จัดขึ้นจนถึงวันที่ 15 มีนาคมนี้ เพื่ออบรมพยาบาลวิชาชีพ และเจ้าหน้าที่ รวม 250 คน ให้มีความรู้ ทักษะและประสบการณ์ในการจัดบริการ, บำบัดฟื้นฟู ดูแล ช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติดในระบบต้องโทษในราชทัณฑ์ และสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ให้มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน ตามข้อกำหนดของประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยนำครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วม มีกิจกรรมทางเลือกที่ปรับแนวคิดของผู้ป่วย ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ รู้จักช่วยเหลือตนเอง และใช้แนวคิดชุมชนบำบัด จำลองหอผู้ป่วยให้เป็นบ้าน เพื่อให้เรียนรู้การอยู่ร่วมกัน และกลับไปใช้ชีวิตได้โดยไม่กลับไปใช้ยาเสพติดซ้ำ