พ่องง! ผู้ปกครองผุดคำ SAVE ครู หลังจับเด็กอนุบาลแก้ผ้า-เล่นเกมใส่เสื้อผ้า
วันที่ 11 มี.ค. 2567 เวลา 07:07 น.
สนามข่าว 7 สี - กรณีโรงเรียนแห่งหนึ่งจัดแข่งกีฬาสี แล้วมีเกมให้เด็กอนุบาล อายุ 4-5 ขวบ แข่งใส่เสื้อผ้ากัน แต่ก็มีข้อผิดพลาดเมื่อลูกสาวของคุณพ่อคนหนึ่ง จู่ ๆ ถูกดึงขึ้นเวทีไปแข่งขันเกมนี้แทนเพื่อน และคุณพ่อไม่โอเคเพราะก่อนแข่งขันน้องต้องถอดเสื้อผ้า เหลือแต่กางเกงใน พอพ่อทักท้วงกลับมีการผุดคำ SAVE ครู แทนที่จะเป็นเด็ก พ่องง! ผู้ปกครองผุดคำ SAVE ครู หลังจับเด็กอนุบาลแก้ผ้า-เล่นเกมใส่เสื้อผ้า เรื่องนี้ คุณพ่อคนหนึ่งโพสต์ไว้ในเพจ "จิตวิทยาเด็กและครอบครัว ปรึกษาเรื่องเลี้ยงลูก" เชิงทั้งสอบถาม และร้องเรียนว่า งานกีฬาสีโรงเรียนของลูกสาวมีจัดแข่งขันให้ใส่เสื้อผ้า โดยนำเด็ก ๆ อายุ 4-5 ขวบ ทั้งชายหญิงขึ้นบนเวที เด็กชายก็ให้แก้ผ้าล่อนจ้อน ส่วนเด็กผู้หญิงเหลือแต่กางเกงใน ซึ่งเกิดขึ้นต่อหน้าผู้ปกครองคนอื่น ๆ นักการฯ และคนอื่น ๆ นับร้อยคน โดยหนึ่งในผู้แข่งขันเป็นลูกสาวอายุ 4 ขวบกว่า ของคุณพ่อ ซึ่งถูกนำขึ้นเวทีไปแทนเด็กอีกคนที่หาตัวไม่เจอ แล้วก็ให้แก้ผ้าเหลือแต่กางเกงใน โดยที่ไม่แจ้งผู้ปกครองถึงกติกาเกมการแข่งขัน คุณพ่อจึงส่งข้อความไปในกลุ่มสนทนาห้องเรียนลูก เพราะไม่พอใจ ตำหนิแบบสุภาพใช้สิทธิความเป็นพ่อของลูกสาวที่ถูกกระทำ แต่ในห้องสนทนานี้กลับมีผู้ปกครองคนอื่น ๆ มารุมและต่อว่าคุณพ่อ แถมผุดคำว่า "SAVE ครู" ขึ้นมาด้วย ทำให้คุณพ่อก็งงไปเลย นำมาโพสต์ถาม สรุปตนผิดที่ปกป้องสิทธิลูกที่เป็นเยาวชนเหรอ? ทันทีที่ผู้ปกครองคนอื่นเห็นโพสต์ ก็พากันตำหนิโรงเรียน และเห็นตรงกันว่า การแก้ผ้าเด็กในที่สาธารณะไม่ใช่เรื่องปกติ เป็นสิ่งยอมรับไม่ได้ พร้อมหนุนให้คุณพ่อเอาเรื่องให้ถึงที่สุด ที่สำคัญบอกด้วยว่า ต้อง SAVE เด็ก ไม่ใช่ SAVE ครู หนุนผู้ปกครองเอาผิด รร. ปมให้เด็กอนุบาลแก้ผ้า-เล่นเกมใส่เสื้อผ้า เช่นเดียวกับ เจ้าหน้าที่มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก บอกเรื่องนี้เข้าข่ายทำผิดทั้งกฎหมายของไทย และยังขัดต่อหลักการคุ้มครองดูแลเด็กระหว่างประเทศ และชื่นชมผู้ปกครองที่ทักท้วง-ติติงโรงเรียน เป็นสิ่งที่ถูกต้อง และสามารถเอาผิดกับโรงเรียนได้ เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ แนะนำวิธีทำกิจกรรมไม่มีผลกระทบเด็ก คือ ให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของเด็ก เคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกายเด็ก โดยสามารถปลูกฝังเด็กให้เรียนรู้ว่า อวัยวะปกปิด คือ อวัยวะเพศ, หน้าอก และก้น เป็นสิ่งที่ห้ามบุคคลอื่นเข้าใกล้ไม่ว่าจะดม จับ หรือสัมผัสลูบคลำ เพื่อให้เด็กรู้จักปฏิเสธป้องกันเหตุไม่พึงประสงค์