วราวุธ ชวนหาทางออก วิกฤตประชากร หลังปี 66 เด็กเกิดใหม่ไม่ถึง 5 แสนคน
วันที่ 18 ก.พ. 2567 เวลา 19:27 น.
วราวุธ ชี้ ไทยเข้าสู่สภาวะสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบ ปี 66 เด็กเกิดใหม่ไม่ถึง 5 แสนคน ชวนถกหาทางออก แก้วิกฤตประชากร 7 มี.ค.นี้ ก่อนชงครม.-เสนอรายงานต่อ UN วันนี้ (18 ก.พ.67) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เผยถึงการเตรียมการจัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร” ในวันที่ 7 มี.ค.67 ว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สภาวะสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งปัญหาโครงสร้างประชากร กำลังทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตนี้ในอนาคตอันใกล้ เมื่อปี 2566 ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี มีปริมาณกว่า 13 ล้านคน ในขณะที่มีเด็กแรกเกิดไม่ถึง 5 แสนคน โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2565 – 2566) ประชากรของประเทศไทยลดลงไปถึง 35,000 คน ถ้าหากเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ คาดว่าประชากรของประเทศไทยที่มีอยู่ 66 ล้านคนนั้น อีกไม่เกิน 50 ปี จะลงไปเหลือประมาณ 30 ล้านคน นายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวง พม. จึงจัดโครงการประชุมในรูปแบบเวิร์กช็อป สำหรับการสัมมนาเกี่ยวกับการพัฒนาความมั่นคงของครอบครัวไทย เพื่อให้พ้นภัยวิกฤตประชากร ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 7 มี.ค.67 ที่ห้องเพลนารีฮอลล์ 1 (Plenary Hall 1) ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ งานนี้จะมีผู้แทนจากทุกๆ วงการ ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน NGOs และหน่วยงานอื่นๆ ที่ต้องเผชิญกับปัญหานี้มาร่วมแลกเปลี่ยนและหาแนวทางวิธีการที่จะเพิ่มจำนวนประชากร ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเพียงแค่ให้คน 2 คนมาอยู่ด้วยกัน แต่ต้องสร้างสังคมที่มีความสุข ต้องสร้างหนทาง สร้างความอบอุ่น สร้างความมั่นคงให้กับคนรุ่นใหม่ จนกระทั่งทำให้เขารู้สึกว่าอยากจะมีครอบครัว อยากจะมีคนสืบสกุล และมีเด็กเกิดใหม่เพิ่มมากขึ้น นายวราวุธ กล่าวว่า จากรายงาน กระทรวงพม.ได้เริ่มต้นหารือตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.67 โดยเริ่มพูดคุย และเชิญสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และธนาคารโลก (World bank) หารือกันก่อนที่วันที่ 7 มี.ค.ที่จะถึงนี้ เราจะร่วมกันเวิร์กช็อป จะมีการหารือกันในหลายๆ กลุ่ม เมื่อได้ผลการพูดคุยกันแล้วจะมีนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายในต้นเดือนเม.ย.นี้ และจะนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้ ไปเสนอต่อที่ประชุมสหประชาชาติให้คนทั้งโลกได้รับรู้ว่าวันนี้ ประเทศไทยของเรานั้นกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเรื่องโครงสร้างประชากรที่ทุกๆ ประเทศในโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้กันได้อย่างไร ดังนั้น วันที่ 7 มี.ค.นี้ ขอเชิญชวนทุกๆ คน ทุกๆ หน่วยงานเกี่ยวข้องกับปัญหาโครงสร้างประชากร มาร่วมกันแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความรู้กัน