“รัฐบาล” เร่งแก้ปัญหาขอทาน พบทั่วประเทศมากกว่า 7,100 คน 1 ใน 3 เป็นชาวต่างชาติ เตือนคนใจบุญไม่ควรให้เงิน อย่าส่งเสริมการทำผิดกฎหมาย
วันที่ 3 ก.พ. 2567 เวลา 10:24 น.
“ขอทาน” ทำไม่ได้ เพราะผิดกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน และ ปรับสูงสุดไม่ได้เกิน 10,000 บาท จากกรณีที่ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวในจังหวัดชลบุรี ร้องเรียนว่ามีขอทานต่างด้าว ขอทานต่างชาติ เข้ามานั่งขอทานตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ สร้างความเดือดร้อน ทำลายภาพลักษณ์ของเมืองท่องเที่ย ล่าสุด (3ก.พ.67) นางรัดเกล้า สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จัดระเบียบคนขอทาน รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ตรวจตราเฝ้าระวัง และเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบกวดขันการกระทำที่มีลักษณะผิดกฎหมายบริเวณทางเท้าและที่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง การขอทาน ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากเป็นผู้ที่แสวงหาประโยชน์จากการขอทาน อัตราโทษจะหนักขึ้นด้วย ทั้งนี้ จากตัวเลขของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566 พบว่ามีขอทานในประเทศไทยกว่า 7,151 คน เป็นคนไทย 4,686 คน และเป็นขอทานต่างด้าว 2,465 คน โดยกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่พบขอทานมากที่สุด ซึ่งในกรณีหากเป็นขอทานต่างด้าว เมื่อเจ้าหน้าที่พบเห็นหากมาคนเดียว จะดำเนินคดีและเมื่อสิ้นสุดคดีแล้ว จะดำเนินการส่งตัวกลับไปยังประเทศต้นทาง แต่หากมากับเด็ก จะดำเนินการตรวจสอบสารพันธุกรรม (DNA) เพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายโลหิตก่อน และ หากพบว่ามีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต จะรายงานผลไปที่สถานีตำรวจในท้องที่กระทำความผิด เพื่อประสานส่งกลับประเทศต้นทาง แต่ในกรณที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต จะรายงานผล DNA ไปที่สถานีตำรวจในท้องที่กระทำความผิด เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามมาตรา 22 พระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 กรณีผู้แสวงหาประโยชน์ หรือ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ “รัฐบาลเดินหน้าแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้อย่างเท่าเทียม สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต โดยหากพบเห็นขอทาน ไม่ควรให้เงิน เพื่อไม่เป็นการส่งเสริมในทางที่ผิดกฎหมาย ช่วยรักษาภาพลักษณ์ประเทศและเป็นการแก้ไขปัญหานี้ได้อีกทางหนึ่ง เพราะการขอทานเป็นการกระทำผิดกฎหมาย โดยขอให้แจ้งมายัง ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ผ่านสายด่วน พม. 1300 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อจัดชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว ลงพื้นที่เข้าตรวจตราเหตุการณ์” นางรัดเกล้า กล่าว