“รัดเกล้า” ยอมรับ ข้อมูลไทยค้นพบแร่ลิเทียมอันดับ 3 ของโลก มีความคาดเคลื่อน หลังหลายฝ่ายท้วงติง
วันที่ 20 ม.ค. 2567 เวลา 11:11 น.
รองโฆษกรัฐบาล ย้ำวัตถุประสงค์ เผยแพร่ข่าวไทยพบแร่ลิเทียม แค่อยากแจ้งข่าวดี สำหรับวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทย สืบเนื่องจากกรณีที่นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เคยให้ข่าวเมื่อวันที่ 18 ม.ค.67 โดยระบุว่า ไทยสำรวจพบ (Resources) แร่ลิเทียมกว่า 14,800,000 ล้านตัน (Million Tonne: Mt) ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่ค้นพบแร่ดังกล่าวมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากโบลิเวีย และอาร์เจนตินา และจะนำมาผลิตเป็นแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน จนเกิดการท้วงติงจากหลายฝ่ายว่า ข้อมูลอาจคาดเคลื่อน เพราะปริมาณที่ค้นพบแร่ดิบ ไม่ใช่ปริมาณแร่ลิเทียมที่สกัดได้นั้น ล่าสุด (20ม.ค.67) นางรัดเกล้า ได้ออกมายอมรับว่าข้อมูลคาดเคลื่อนจริง โดยอ้างถึงข้อมูลจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ที่ออกมาชี้แจงเพิ่มเติมว่า คำว่า Mineral Resource มีความหมายถึงปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ ซึ่งแตกต่างจากคำว่า Lithium Resource ซึ่งหมายถึงปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียม ดังนั้น การนำข้อมูลปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ ไปเปรียบเทียบกับปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียมของต่างประเทศ จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า ประเทศไทยมีปริมาณแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกได้ สำหรับชนิดของแร่ที่พบในประเทศไทยในขณะนี้ เป็นแร่เลพิโดไลต์ (lepidolite) ที่พบในหินเพกมาไทต์ (pegmatite) และมีความสมบูรณ์ของลิเทียม หรือ เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% แม้จะมีความสมบูรณ์ไม่สูงมาก แต่ก็ถือว่ามีความสมบูรณ์กว่าแหล่งลิเทียมหลายแห่งทั่วโลก และ มีความเป็นไปได้ ที่จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการแต่งแร่ที่ความสมบูรณ์ดังกล่าวได้คุ้มค่า อีกทั้งแร่ลิเทียมมีความสัมพันธ์กับแหล่งแร่อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ดีบุกและธาตุหายากอื่น ซึ่งประเทศไทยเป็นแหล่งดีบุกที่สำคัญในอดีต จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพบแหล่งลิเทียมเพิ่มเติมหากมีการสำรวจในอนาคต ปัจจุบัน มีผู้ได้รับอาชญาบัตรพิเศษ เพื่อสำรวจลิเทียมจำนวน 3 แปลง ในพื้นที่จังหวัดพังงา และ มีคำขออาชญาบัตรเพื่อสำรวจลิเทียมในพื้นที่จังหวัดอื่น เช่น จ.ราชบุรี และ จ.ยะลา โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จะเร่งรัดให้เกิดการสำรวจลิเทียมและแร่หายากเพิ่มขึ้น ให้ประเทศไทยมีข้อมูลพื้นฐานสำหรับการทำเหมืองลิเทียม เพื่อรองรับการเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคต่อไป นางรัดเกล้า ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การนำเสนอข้อมูลก่อนหน้านี้ โดยเปรียบเทียบกับปริมาณสำรองของต่างประเทศนั้น มีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อแสดงถึงข่าวดีของประเทศไทย กับการมีแหล่งวัตถุดิบสำคัญที่สามารถช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ และ ยังแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ ที่ประเทศไทยจะมีปริมาณแร่ลิเทียม เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก