โกศลวัฒน์ แจงคดีเยาวชน ขอพิจารณารูปแบบพิเศษไม่ได้ แต่กฎหมายให้อำนาจศาลกำหนดมาตรการพิเศษเด็ก

วันที่ 19 ม.ค. 2567 เวลา 16:09 น.

อธิบดีอัยการ สคช. กางข้อกฎหมายแจง คดีเยาวชน ขอพิจารณารูปแบบพิเศษไม่ได้ แต่กฎหมายให้อำนาจศาลกำหนดมาตรการพิเศษเด็กอายุ 12-15 ปี แม้ไม่ต้องรับโทษอาญา จากกรณี นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.พรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน กมธ.สวัสดิการสังคม เสนอให้อัยการร้องขอต่อศาลพิจารณาคดีในรูปแบบพิเศษ โดยให้วัยรุ่นคดีฆ่าป้าผันได้รับการพิจารณาคดีเทียบเท่าอัตราโทษของผู้ใหญ่ เนื่องจากพฤติการณ์รุนแรงเกินกว่าเหตุและเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย กฎหมายคุ้มครองเด็กอาจไม่สามารถนำมาบังคับใช้ให้กับเด็กกลุ่มนี้ได้นั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย (สคช.) เผยกับทีมข่าว Ch7HD News ว่า  อัยการสามารถขอให้ศาลพิจารณาคดีในรูปแบบพิเศษได้ ถ้าอยู่ในเงื่อนไขกำหนด โดยกฎหมายคุ้มครองเด็กกำหนดให้เด็กที่อายุไม่ถึง 12 ปีไม่ต้องรับโทษ แต่ไม่ใช่ว่าพ่อแม่จะเพิกเฉย ไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะความผิดจะตกกับผู้ปกครองที่ปล่อยปละละเลย ไม่ควบคุมตักเตือนดูแล ไม่ป้องกันเหตุ เช่น ซื้อรถจักรยานยนต์ให้ลูก ทั้งที่รู้ว่าเด็กยังไม่สามารถทำใบขับขี่ตามเกณฑ์ได้ หรือปล่อยให้ลูกขี่จักรยานยนต์ในเวลากลางคืน ซึ่งทางแพ่งตาม ปพพ. มาตรา 420 ประกอบ 429 เรื่องบิดามารดาผู้รับเลี้ยงดูแลบุตรผู้เยาว์ ยังต้องรับผิดฐานละเมิดจากการกระทำความผิดของผู้เยาว์ ด้วยการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ย นอกจากนี้ ตัวพ่อแม่อาจยังต้องรับผิดทางอาญา ตามกฎหมายคุ้มครองเด็ก มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ซึ่งอัยการฟ้องศาลไปหลายคดีและมีคำพิพากษามาแล้ว ส่วนเด็กที่อายุ 12 ปี แต่ไม่ถึง 15 ปี หากกระทำผิด แม้เด็กนั้นจะไม่ต้องรับโทษ แต่กฎหมายให้อำนาจศาลกำหนดมาตรการพิเศษ เพื่อควบคุม ปรับแก้พฤติกรรมให้เด็กกลับมาเป็นคนดี เช่น ส่งเข้าสถานอบรม หรือสถานพินิจฯ แต่ถ้าแก้ไม่ได้ หรือพฤติการณ์เกี่ยวกับคำสั่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลก็มีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งนั้นหรือมีคำสั่งใหม่ได้ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นกรณีเดียวกับที่ ประธาน กมธ.สวัสดิการสังคม จะขอให้อัยการเสนอศาลกำหนดมาตรการพิเศษนี้ สำหรับเด็กที่อายุ 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี หากกระทำผิด ศาลจะพิจารณาแต่ละกรณี อาจไม่ลงโทษ แต่ใช้มาตรการพิเศษ หรือสั่งลดโทษกึ่งหนึ่งก็ได้ แต่หากกระทำผิดในขณะอายุ 18 ปี อาจต้องเข้าเรือนจำ สิ่งสำคัญคดีที่เด็กกระทำความผิดต้องช่วยกันแจ้งความ ที่ผ่านมามีคดีที่เด็กกระทำผิดบ่อยครั้ง แต่ไม่มีใครใช้สิทธิ์แจ้งความ และแท้จริงแล้วกฎหมายเป็นแค่ปลายทาง แต่ต้นทางคือการเลี้ยงดูเด็ก ไม่ให้ทำผิดกฎหมาย ซึ่งพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี แต่ต้องไม่ใช้ความรู้สึกตัวเองตัดสินว่าลูกตัวเองเป็นคนดี