ดีเอสไอ หอบสำนวน 2 ลัง ส่ง ป.ป.ช. ฟัน 3 จนท.รัฐ เอี่ยวหมูเถื่อน

วันที่ 19 ม.ค. 2567 เวลา 12:19 น.

ดีเอสไอ หอบสำนวน 2 ลัง ส่ง ป.ป.ช. ฟัน 3 จนท.รัฐ เอี่ยวลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน หลังพบเส้นทางการเงินโยง 2 บริษัทนำเข้า วันนี้ (19 ม.ค.67) ร.ต.อ. ชาญณรงค์ ทับสาร รองผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ได้รับมอบหมายจาก พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้นำสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษ ที่ 101/2566 และคดีพิเศษที่ 104/2566 ทั้งสองคดี จำนวน 2 ลัง สำนวนประมาณ 3,000 หน้า ไปส่งมอบให้สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป สืบเนื่องจากดีเอสไอ ได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษที่ 59/2566 กรณีขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จากการตรวจสอบพบตู้สินค้าตกค้างในท่าเรือแหลมฉบัง โดยผู้รับสินค้าหรือตัวแทนแจ้งข้อมูลผ่านระบบของกรมศุลกากร สำแดงเท็จเป็นอาหารแช่แข็ง ที่ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า จำนวน 161 ตู้ น้ำหนักประมาณ 4.9 ล้านกิโลกรัม มูลค่าความเสียหายประมาณ 460,105,947.38 บาท โดยทางการสอบสวน พบเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว เมื่อวันที่ 24 พ.ย.66 ต่อมาดีเอสไอได้สอบสวนขยายผล และพบการกระทำความผิดเพิ่มเติม จึงรับเป็นคดีพิเศษอีกจำนวน 9 คดี รวมทั้งคดีพิเศษที่ 101/2566 และคดีพิเศษที่ 104/2566 ด้วย จากการสืบสวนสอบสวน เกี่ยวกับคดีดังกล่าว พบเจ้าหน้าที่รัฐทั้ง 3 คน ซึ่งเป็นระดับผู้มีอำนาจสั่งปล่อยตู้คอนเทนเนอร์นำเข้าชิ้นส่วนหมูเถื่อน โดยดีเอสไอพบพยานหลักฐานเกี่ยวการเส้นทางการเงินเชื่อมโยงกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนหมูเถื่อนชัดเจน จำนวน 2 บริษัท ที่นำเข้าชิ้นส่วนหมูเถื่อน 161 ตู้คอนเทนเนอร์ และมียอดเงินที่เกี่ยวพันประมาณ 10 ล้านบาท ทำให้ดีเอสไอเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ 3 รายนี้มีส่วนเกี่ยวข้องแน่นอน และเข้าข่ายกระทำความผิด โดยเจ้าหน้าที่รัฐทั้ง 3 คน เข้าข่ายความผิดในความผิด 3 ข้อหา คือ หลีกเลี่ยงการเสียอากรโดยเจตนา , หลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ๆ ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร , นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งซากสัตว์ โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตามพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา สำหรับพฤติการณ์กลุ่มขบวนการผู้ค้าเนื้อสัตว์กลุ่มใหญ่ จะวางแผนร่วมกันกับข้าราชการบางราย สร้างกระบวนการทุจริตในการนำเข้าสุกรต่างประเทศ เนื่องจากเนื้อสุกรแปรรูปในต่างประเทศมีราคาถูกมาก เมื่อนำเข้ามาบวกราคาขนส่งและค่าใช้จ่ายทั้งปวงแล้ว ยังได้กำไรครึ่งหนึ่งของราคาที่จำหน่ายในประเทศไทย การดำเนินการเริ่มจาก จัดให้มีตัวแทนรับซื้อชิ้นส่วนสุกรที่ต่างประเทศรวบรวมไว้เป็นจำนวนมาก ต่อมาให้บริษัทในเครือข่ายหรือบริษัทที่เป็นตัวแทนเชิดของกลุ่มผู้กระทำผิด สั่งซื้อนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ให้สำแดงสินค้าเป็นผลิตภัณฑ์ปลาหรือโพลิเมอร์ อันเป็นเท็จ เพื่อการหลีกเลี่ยงการชำระอากรที่ถูกต้องตามพิกัดอัตราภาษีศุลกากร รวมทั้งหลีกเลี่ยงการตรวจกักกันโรค ทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่าสินค้าที่บรรจุอยู่ในตู้สินค้านั้น เป็นสินค้าประเภทใด โดยจะมีการคิดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ หรือที่เรียกว่า “ค่าเคลียร์” และนำสินค้าออกจากท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อไปส่งห้องเย็นที่เตรียมไว้แล้ว ก่อนกระจายสู่ตลาดผู้บริโภค ส่งผลให้ผู้ประกอบการเลี้ยงสุกร และจำหน่ายสุกรภายในประเทศเกิดความเสียหายอย่างมาก ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 101/2566 และคดีพิเศษที่ 104/2566 ได้ประชุมพิจารณาพยานหลักฐานแล้วเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดดังกล่าวด้วย จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นควรส่งสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษดังกล่าว ไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป