สล่าประกอบพลุเผย ปัจจุบันคนนิยมซื้อพลุจากจีน

วันที่ 19 ม.ค. 2567 เวลา 11:23 น.

ห้องข่าวภาคเที่ยง - ก่อนหน้านี้ที่เชียงใหม่เกิดเหตุการณ์พลุระเบิดหลายแห่ง ล่าสุดผู้สื่อข่าว ลงสำรวจการผลิตพลุ  ล่าสุดพบว่าผู้ผลิตพลุใช้ตามงานต่างๆ ทยอยเลิกทำไปหลายราย เพราะปัจจุบันเจ้าภาพงานต่าง ๆ นิยมไปซื้อแบบสำเร็จรูป โดยคุณเกรียงไกร รัตนา ผู้สื่อข่าว 7HD ประจำภาคเหนือ ได้ลงพื้นที่สำรวจโรงงานพลุ พบว่าปัจจุบันโรงงานประกอบหรือผลิตพลุ ที่ใช้ตามงานศพ งานมงคล หรือ งานเฉลิมฉลองต่าง ๆ เริ่มทยอยเลิกผลิตแล้ว โดยได้รับการเปิดเผย นายพุฒ คำสวน อดีตเคยเป็นช่างผลิตพลุ หรือที่ทางเหนือเรียกสล่าพลุ พาคุณเกรียงไกร เดินชมอุปกรณ์ที่ยังพอเหลืออยู่ เช่น ดินประสิว ถ่าน ขี้เหล็ก และท่อยิงพลุ และเหล็กปั๊มพลุดาวกระจาย นายพุฒบอกว่า หัวใจสำคัญคือ โพแทสเซียมไนเตรต ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตพลุ ถ้าไม่มีความชำนาญในการผลิตอาจทำให้เกิดระเบิดแบบที่เป็นข่าวได้ ซึ่งปัจจุบันสล่าทำพลุในเชียงใหม่ต่างทยอยเลิกทำ เพราะว่าเจ้าภาพงานต่างๆ นิยมไปซื้อพลุแบบสำเร็จรูปที่นำเข้ามาจากจีน ที่มีขายตามย่านถนนช้างม่อยเก่าและย่านสันป่าคอยในตัวเมืองเชียงใหม่ เพราะสะดวกกว่าและถูกกว่า ด้านนายศิวะ ธมิกานนท์ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า หลังจากที่ปีที่แล้วในพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มีโรงงานพลุระเบิด ทางจังหวัดได้มีการสำรวจโรงงานพลุในพื้นที่ พบว่าขณะนี้มีผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตถูกต้องตามกฏหมาย 3 ราย นำเข้า 5 ราย และจำหน่าย 607 ราย ขณะนี้ได้มีการกำชับเน้นย้ำให้นายอำเภอทุกแห่งและฝ่ายปกครอง ลงพื้นที่สำรวจอีกครั้ง ในการหาที่ยังมีการลักลอบผลิตพลุโดยไม่ขอใบอนุญาตเพราะถือว่ามีความอันตราย รวมถึงประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนถึงความปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดเหตุแบบที่จังหวัดสุพรรณบุรี รวมถึงมีการตรวจร้านจำหน่ายสารโพแทสเซียมไนเตรต ควบคู่กันไปด้วย ส่วนเคสโรงงานเก็บประทัดดอกไม้เพลิงระเบิด กลางตลาดมูโน๊ะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ปีที่แล้ว มีผู้เสียชีวิต 12 คน บาดเจ็บนับร้อยคน บ้านเรือนเสียหายกว่า 200 หลัง ส่วนแผนการฟื้นฟูตลาดมูโนะ โดยเฉพาะบ้านใกล้จุดศูนย์กลางระเบิดที่เสียหายจำนวน 75 หลัง มีการรื้อถอนซากปรักหักพัง พร้อมมีการนำดินมาถมให้สูงขึ้นจากถนน 80 เซนติเมตร สร้างบ้านให้ชาวบ้านไปแล้วบางส่วน ตามที่ชาวบ้านได้เลือกแบบแปลนจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ออกแบบบ้านให้ซึ่งมีลักษณะซึ่งมี 3 แบบ ตามความพอใจของชาวบ้านแต่ละหลัง ตามแผนที่จะพัฒนาให้เป็นย่านการค้าชายแดนแห่งใหม่