แม่แจ่มได้มีที่ดินทำกิน ชาวบ้านดีใจ ไม่ต้องหลบซ่อนจากรัฐ
วันที่ 17 ม.ค. 2567 เวลา 19:06 น.
สคทช.ลงตรวจพื้นที่แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ จัดสรรที่ดินทำกินให้ชาวบ้าน ไม่ต้องหลบซ่อนจากเจ้าหน้าที่ ชาวบ้านขอบคุณ ลั่นเป็นความหวังที่รอมานาน แม่แจ่มมีที่ทำกิน วันนี้(17 ม.ค.2567) นางรวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ(สคทช.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่บ้านกองแขก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานการจัดสรรที่ดินทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แจ่ม และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าขุนแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบนำแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาปรับใช้สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพต่อยอดสร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทำกินและอยู่อาศัยภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดีและทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์อย่างยั่งยืน โดยหลังจากอนุญาตให้ใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แจ่ม อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 11,455 ไร่ 3 งาน 59 ตารางวา จัดการคนเข้าไปใช้ประโยชน์ จำนวน 1,347 ราย พื้นที่ดังกล่าวได้มีการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ โดยดำเนินโครงการตามกรอบการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ 6 ด้าน ตามที่คณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด กำหนด โดยจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำและระบบกระจายน้ำ อำเภอแม่แจ่ม จำนวน 1 โครงการ โดยกรมพัฒนาที่ดิน พร้อมได้ดำเนินโครงการ “โคกหนองนา โมเดล” จำนวน 35 ครัวเรือน ครัวเรือนละ 10 ไร่ โดยกรมการพัฒนาชุมชน อบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนา เลี้ยงสัตว์ปีก พร้อมสนับสนุนเงินอุดหนุนให้เกษตรกรจำนวน 10 ราย โดยกรมปศุสัตว์ ถ่ายทอดความรู้ด้านสหกรณ์ จำนวน 1 โครงการ (ครอบคลุมพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม) และจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรแล้วจำนวน 5 กลุ่ม โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมกับอบรมการทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพ จำนวน 1,374 ราย โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ นางรวีวรรณ กล่าวว่า ภารกิจของ คทช.ไม่ใช่แค่การหาที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านที่ไร้ที่ดินทำกินเท่านั้น แต่ยังต้องส่งเสริมพัฒนาอาชีพให้เกษตรกรอยู่ในพื้นที่ซึ่งรัฐจัดให้ได้อย่างมั่นคงยั่งยืน ส่งเสริมอาชีพ หาแหล่งเงินทุน จัดหาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค ไฟฟ้า ถนน แหล่งน้ำซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของเกษตรกร ซึ่งคณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพของ คทช.จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการช่วยเหลือด้านการตลาดเพื่อส่งออกผลิตภัณฑ์ด้วย ซึ่งการอยู่อย่างผิดกฎหมายนั้น ชาวบ้านต้องอยู่อย่างหวาดกลัว แต่ความเหลื่อมล้ำและความยากจนทำให้ชาวบ้านต้องมาอยู่ในพื้นที่ป่า แต่เดิมพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดบนเขาหัวโล้นซึ่งเป็นพืชเชิงเดี่ยวและเกิดการเผา ชาวบ้านไม่กล้าปลูกต้นไม้ใหญ่เพราะกังวลว่าจะถูกจับ แต่การจัดพื้นที่ คทช.ให้ชาวบ้านอยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยหนังสืออนุญาตยังตกทอดถึงลูกหลานด้วย ทุกคนก็ต้องคิดว่าถ้าปลูกข้าวโพดแล้วจะเหลืออะไรให้ลูกหลาน หรือควรจะปลูกต้นไม้ และไม้ผลเพื่อให้ลูกหลานมีสมบัติ มีที่ทำกินต่อไป และ สคทช.ได้มอบหนังสืออนุญาตการใช้พื้นที่ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้ง่ายต่อการจัดหาสาธารณูปโภคให้กับชาวบ้านโดยแจ้งให้กรมป่าไม้ทราบ ด้านนายสุขสรรต์ ศรีวิพัฒน์ อายุ 67 ปี เกษตรกรบ้านกองแขก กล่าวว่า อยู่ที่นี่มานานกว่า 40 ปี ก่อนที่ คทช.จะเข้ามาช่วยเหลือ ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ไม่เคยมีความสุข ต้องคอยเก็บไม้ที่ตัดไว้ เจ้าหน้าที่นำเฮลิคอปเตอร์มาบินก็ต้องวิ่งหลบหนี หวาดระแวงกลัวจะโดนจับ ไม่รู้จะทำยังไงเพราะไม่มีที่ทำกิน เดิมทีต้อมล้มป่าปลูกถั่วเหลืองซึ่งผลผลิตก็ไม่ดี จึงหันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กันเมื่อช่วงปี พ.ศ.2541 ซึ่งการปลูกก็ลำบากเพราะเป็นพื้นที่ลาดชัน ก่อนจะเปลี่ยนมาปลูกไม้ผลแทนจนโครงการของ คทช.เข้ามา จึงไปเริ่มขอปลูกในพื้นที่ และเริ่มเลี้ยงสัตว์ควบคู่กันไปด้วย ถือว่าสมหวังแล้ว แม้มีที่ทำกินแค่เพียง 5 ไร่ ก็เพียงพอแล้ว ขอแค่ขยันก็ไม่อดตาย