เจาะปมหักค่าหัวคิวแรงงานไปฟินแลนด์ เกี่ยวพัน 2 อดีต รมต.-ผู้บริหารระดับสูง ก.แรงงาน
วันที่ 12 ม.ค. 2567 เวลา 11:24 น.
ห้องข่าวภาคเที่ยง - ร้อนกระทรวงแรงงาน กับข้อกล่าวหาที่ดีเอสไอ พบว่า 2 อดีตรัฐมนตรี และผู้บริหารระดับสูง เกี่ยวพันกับการหักค่าหัวคิวแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่าที่ฟินแลนด์ เสียหาย 36 ล้านบาท คดีนี้ ดีเอสไอ ได้รับการประสานจากกระทรวงการต่างประเทศ หลังให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยในประเทศฟินแลนด์ ที่เดินทางไปทำงานเก็บผลไม้ป่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่กลับตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ จากข้อมูลพบว่ามีขบวนการสมคบระหว่างนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ และบุคคลธรรมดา ร่วมกันเรียกรับผลประโยชน์จากบริษัทผู้ประสานงานฝั่งไทยที่ทำหน้าที่ประสานงานกับบริษัทที่จะนำเข้าแรงงานของฟินแลนด์ เป็นค่า "หัวคิว" เฉลี่ยรายละ 3,000 บาท ทั้งที่ไม่มีสิทธิเรียกเก็บตามกฎหมาย และยังพบว่าระหว่าง ปี 2563-2566 มีผู้อยู่ในข่ายต้องเสียค่าใช้จ่ายดังกล่าวประมาณ 12,000 คน คิดเป็นเงินประมาณ 36 ล้านบาท จึงมีมติกล่าวหาอดีตข้าราชการฝ่ายการเมืองระดับรัฐมนตรี 2 คน และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงาน อีก 2 คน รวมทั้งหมด 4 คน ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และให้เร่งสรุปสำนวนการสอบสวนส่งสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อชี้มูลความผิด อย่างที่เราได้รายงานให้คุณผู้ชมรับทราบไปในห้องข่าวภาคเที่ยงเมื่อวานนี้ ทีมข่าวของเราสอบถามไปยัง นายสุชาติ ชมกลิ่น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้รับคำยืนยันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องตามที่มีการกล่าวหา พร้อมพิสูจน์ความบริสุทธิ์ เพราะการส่งแรงงานไปประเทศฟินแลนด์ดำเนินการในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งตนเองก็ยังไม่ได้รับตำแหน่ง อีกทั้งไม่มีอำนาจ ไม่ได้เกี่ยวข้อง โดยการส่งแรงงานไทยไปฟินแลนด์ดำเนินการมาเป็นสิบปีแล้ว ในยุคที่ตนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ก็มีการร้องเรียนทำนองนี้ แต่เมื่อตรวจสอบก็ไม่พบว่ามีมูล และท้า พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้เปิดหลักฐานออกมา แทนการกล่าวหาลอย ๆ ซึ่งขณะนี้ให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาข้อมูลทั้งหมด ทีมข่าวของเราสอบถามเพิ่มเติมไปยัง พันตำรวจตรี วรณัน ศรีล้ำ ในฐานะโฆษก DSI เกี่ยวกับหลักฐานที่ทางฟินแลนด์ส่งให้ว่ามีอะไรบ้าง ท่านบอกว่ามีทั้งเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ และการส่อว่าจะทุจริต โดยพบเอกสารเขียนเรื่องรายจ่ายเอาไว้ ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขของกฎหมาย จึงเป็นที่มาของการสอบสวนขยายผลไปถึงการหักค่าหัวคิว และคำนวณความเสียหายเฉลี่ยจากจำนวนแรงงาน ตกประมาณ 3,000 บาทต่อหัว อย่างไรก็ตาม ยังต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งผู้ที่ถูกกล่าวหาก็จะต้องไปชี้แจงต่อ ป.ป.ช. ต่อไป