ค้นพบรอยตีนสัตว์ดึกดำบรรพ์อายุกว่า 225 ล้านปีก่อน เก่าแก่ที่สุดในเอเชีย
วันที่ 11 ม.ค. 2567 เวลา 17:01 น.
กรมทรัพยากรธรณี ค้นพบรอยตีนสัตว์ดึกดำบรรพ์ อายุกว่า 225 ล้านปี เก่าแก่ที่สุดในเอเชีย และยังพบแนวเดินไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอดที่รอยต่อ เพชรบูรณ์-ขอนแก่น สัตว์ดึกดำบรรพ์ วานนี้(10 มกราคม 2567) นางธิดา ลิอาร์ด และคณะสำรวจร่องรอยสัตว์ดึกดำบรรพ์ สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 2 กรมทรัพยากรธรณี(ทธ.) ลงพื้นที่สำรวจแหล่งรอยตีนสัตว์ดึกดำบรรพ์น้ำตกตาดใหญ่ ซึ่งอยู่ในเขตรอยต่อระหว่างอำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น เพื่อสำรวจและศึกษารอยตีนสัตว์ดึกดำบรรพ์เบื้องต้น โดยแหล่งรอยตีนสัตว์ดึกดำบรรพ์น้ำตกตาดใหญ่ ค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 2566 เดิมค้นพบเฉพาะรอยตีนเป็นแนวทางเดินของไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอด จำนวน 2 แนว พบอยู่ในชั้นหินโคลน ตอนล่างของหมวดหินห้วยหินลาด อายุประมาณ 225 - 220 ล้านปีก่อน หรือยุคไทรแอสซิกตอนปลาย (Late Triassic) ซึ่งถือว่าเป็นรอยตีนสัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียเท่าที่ค้นพบในตอนนี้ การสำรวจในครั้งนี้ ได้ค้นพบรอยตีนเพิ่มเติม จำนวน 5 แนว ประกอบด้วยแนวทางเดินของไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอด จำนวน 2 แนว แนวทางเดินของสัตว์ขนาดเล็ก จำนวน 2 แนว และแนวทางเดินของสัตว์เลื้อยคลานกลุ่มอาร์โคซอร์ จำนวน 1 แนว สำหรับแนวทางเดินของกลุ่มอาร์โคซอร์ในพื้นที่นี้เป็นแนวทางเดินที่น่าสนใจที่สุด ซึ่งมีรายละเอียดปรากฏบนหินชัดเจน ทั้งนิ้ว กรงเล็บ ฝ่าตีนหน้าและหลัง มีความแตกต่างจากรอยตีนที่พบบริเวณบ้านนาพอสอง (ผารอยตีนอาร์โคซอร์) ซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง และมีลักษณะเฉพาะที่ยังไม่เคยค้นพบที่ใดในประเทศไทย คาดว่าเป็นรอยตีนสัตว์ดึกดำบรรพ์ชนิดใหม่ของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นลำห้วยที่มีน้ำหลากในช่วงฤดูฝนซึ่งเสี่ยงต่อการถูกทำลายโดยธรรมชาติ จึงควรเร่งสำรวจและศึกษาวิจัยในรายละเอียด เพื่อให้ได้ข้อมูลทางวิชาการที่สำคัญทั้งในด้านบรรพชีวินวิทยา ธรณีวิทยา รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ดึกดำบรรพ์ เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ไปต่อยอดและพัฒนาให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในท้องที่โดยกรมทรัพยากรธรณีจะประสานหน่วยงานในท้องที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันหาแนวทางในการอนุรักษ์และพัฒนาต่อไป ขอบคุณภาพจาก นายอดุลย์วิทย์ กาวีระ นักธรณีวิทยา