ผังเมืองรวมไม่เอื้อนายทุน กทม.รับฟังความเห็นถึงสิ้นเดือน ก.พ.
วันที่ 10 ม.ค. 2567 เวลา 14:21 น.
ผังเมืองรวมกรุงเทพฯ อย่าใช้คำว่า เอื้อประโยชน์นายทุน เป็นวาทกรรมทำให้แตกแยก ชัชชาติพร้อมเปิดรับฟังความเห็นถึงสิ้นเดือน ก.พ.นี้ พื้นที่สีแดงหรือพื้นที่พาณิชยกรรมกระจายตัว เพื่อให้มีงานใกล้บ้าน วันนี้ (10 ม.ค.67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีการเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนต่อร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ปรับปรุงครั้งที่ 4 หลังการประชุมรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 6 ม.ค.67 ว่า ผังเมืองเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องยากเพราะเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน และต้องฟังผู้เชี่ยวชาญ ประเด็นที่บอกว่าผังเมืองเอื้อประโยชน์นายทุนนั้น ขออย่าให้ใช้คำนี้เลยเพราะเป็นการสร้างวาทกรรมที่ทำให้เกิดความแตกแยก ขอให้คุยกันด้วยเหตุผลเราพร้อมจะฟังทุกเหตุผล “ผังเมืองที่ใช้อยู่ปัจจุบันนั้นทำกันมาต่อเนื่อง และพยายามทำให้ดีขึ้น และทุกอย่างที่เพิ่มเติมนักวางผังเมืองต้องมีคำอธิบายว่าทำไมถึงเปลี่ยนสีเพิ่มขึ้น ฉะนั้นขออย่าให้ใช้คำว่าเอื้อนายทุนเพราะคนที่มีบุญคุณกับเราคือประชาชน เราอยู่ตรงนี้ได้เพราะประชาชนเลือกมา เราอยากเห็นประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” ผู้ว่าฯชัชชาติ ระบุ สำหรับผังเมืองนั้น การดูจุดเดียวไม่ได้สะท้อนทั้งเมือง การแก้ผังเมืองสีแดงจุดเดียวไม่ได้ทำให้คนทั้งกรุงเทพฯ ดีขึ้น หากสังเกตส่วนของพื้นที่สีแดงหรือพื้นที่พาณิชยกรรม มีอยู่เป็นบางพื้นที่กระจายตัว ส่วนนี้เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแต่ กทม. ในยุคนี้พยายามจัดสรรให้ดีขึ้น ทางนักผังเมืองเองก็ต้องมีคำอธิบายไว้ให้กับประชาชนว่าทำไมถึงมี การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ทำเพื่ออะไร ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ระบุด้วยว่า นโยบายที่เราให้ไปคือ เมื่อไหร่ก็ตามที่บ้านกับที่ทำงานอยู่ห่างกันคุณภาพชีวิตจะแย่ลง เราอยากเห็นกรุงเทพฯ ที่คนสามารถหางานที่อยู่ใกล้บ้านมากขึ้น หรือเอางานไปอยู่ใกล้บ้านมากขึ้น ก็จะเห็นการทำผังเมืองที่มีโซนสีแดงที่มีนบุรี หนองจอก หวังว่าจะมีการทำออฟฟิศที่ใกล้บ้านเขา หรือว่ามีการเพิ่มโซนสีส้มแถวประดิษฐ์มนูธรรมเพื่อให้คนสามารถอยู่ใกล้งานได้มากขึ้นไม่ต้องไปอยู่แถววงแหวน ทุกอย่างมีเหตุผลและเราพร้อมรับฟัง ไม่อยากให้เริ่มต้นด้วยความขัดแย้ง และ กทม.ยินดีเปิดรับฟังความคิดเห็นถึงสิ้นเดือน ก.พ. 67 “กรณีที่ในผังเมืองรวมฯ ปรับปรุงใหม่ มีการเตรียมเขตทางเพิ่มเติมขึ้น เพราะต้องการให้มีระยะห่างจากถนนกับอาคารมากขึ้น ทำให้เมืองโล่งขึ้น คนอาจจะเข้าใจว่าเป็นการเอื้อประโยชน์นายทุนตัดถนน แต่ที่จริงแล้วเป็นการศึกษาจากต่างประเทศว่าเมืองควรมีฟุตพาธกว้างมากขึ้น มีระยะเว้นมากขึ้น คนจะสร้างตึกต้องถอยจากถนนที่มีอยู่”