ตุ๋นระดับชาติ นักธุรกิจชื่อดังเมืองเชียงใหม่ ลวงนักลงทุนอัญมณี สูญเงินไปกว่า 22 ล้านบาท
วันที่ 8 ม.ค. 2567 เวลา 10:42 น.
ตุ๋นตัวพ่อ อ้างมีเงินในธนาคารต่างประเทศ กว่า 2 แสนล้านบาท ลวงนักลงทุนอัญมณี สูญเงินกว่า 22 ล้านบาท ซ้ำชวนนักการเมืองพรรคดัง คุยโวช่วยระดมเงินลงทุนรถไฟความเร็วสูง หากช่วยเรื่องคดี วันนี้ (8 ม.ค. 67) ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) รายงานการจับกุมนายรวีโรจน์ฯ อายุ 57 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญากรุงเทพใต้ที่ จ. ๗๙๔/๒๕๖๕ ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ในความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงและร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม” สืบเนื่องจากเมื่อประมาณปี พ.ศ.2558 นายรวีโรจน์ฯ (ผู้ต้องหา) ได้ร่วมกับพวก หลอกลวงผู้เสียหายซึ่งเป็นนักธุรกิจอัญมณีให้มาร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมอัญมณีแบบครบวงจร โดยผู้ต้องหาได้แอบอ้างว่าตนเองเป็นกลุ่มนายทุนเจ้าของบริษัทการเงินแห่งหนึ่ง มีเงินฝากในธนาคารต่างประเทศคิดเป็นเงินไทยประมาณ 2 แสนล้านบาท โดยอ้างว่าจะให้เงินสนับสนุนกับผู้เสียหายเป็นเงินจำนวน 1,000 ล้านบาท หากผู้เสียหายมาร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมอัญมณีกับกลุ่มผู้ต้องหา โดยก่อนที่ผู้เสียหายจะได้รับเงินสนับสนุนจำนวนดังกล่าว เสียหายจะต้องจ่ายเงินค่าดำเนินการและค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการนำเงินเข้ามาในประเทศไทยให้กับกลุ่มผู้ต้องหาก่อน ซึ่งในห้วงนั้นผู้ต้องหาได้มีการปลอมหนังสือค้ำประกันของธนาคารต่างชาติแห่งหนึ่ง สาขานิวยอร์ก นำมาแสดงให้ผู้เสียหายเห็นว่า กลุ่มผู้ต้องหามีเงินในบัญชีอยู่จริง (ปรากฏยอดเงินเป็นจำนวน 8,775,105,000 ดอลล่าร์) ภายหลังผู้เสียหายจึงหลงเชื่อโอนเงินค่าดำเนินการต่างๆ รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 22,480,000 บาท ไปให้กับกลุ่มผู้ต้องหา และต่อมาเมื่อถึงกำหนดนัดจ่ายเงินทุนสนับสนุนดังกล่าว ผู้ต้องหากลับไม่จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้ พร้อมกับบ่ายเบี่ยง และหลบหนีไปในที่สุด ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกหลอก จึงได้เข้ามาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ป. ให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาและพวกตามกฎหมาย จากการสืบสวนของตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กก.1 บก.ป. ทำให้ทราบว่า เมื่อประมาณปลายปี พ.ศ.2560 นายรวีโรจน์ฯ (ผู้ต้องหา) ได้หลบหนีออกนอกประเทศ และภายหลังได้ถูกทางการประเทศแองโกลาจับกุมพร้อมกับพวกในนามตัวแทนบริษัทฯ (เป็นบริษัทฯ ประกอบธุรกิจกิจการค้าขายสินค้าทางการเกษตร, ทองคำ และอสังหาริมทรัพย์) โดยทั้งหมดถูกกล่าวหาว่า “ปลอมแปลงเอกสารเช็คและฟอกเงิน” เนื่องจากบริษัทฯ ของผู้ต้องหาได้มีการเซ็นสัญญาลงทุนกับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในประเทศแองโกลา และได้มีการนำเช็คจำนวน 50,000 ล้านดอลลาร์ เข้าเปิดบัญชีในนามของบริษัทฯ ที่ธนาคารแห่งหนึ่งในประเทศแองโกลา เพื่อเป็นเงินลงทุนในประเทศ พร้อมกันนี้ยังได้มีการเตรียมเข้าเซ็นสัญญากับรัฐบาลของทางแองโกลา แต่ภายหลังรัฐบาลของประเทศเเองโกลาตรวจพบการกระทำความผิด จึงได้ดำเนินการตามกฎหมายกับกลุ่มผู้ต้องหา ซึ่งต่อมาเมื่อนายรวีโรจน์ฯ (ผู้ต้องหา) พ้นโทษจำคุกที่ประเทศแองโกลาแล้ว ผู้ต้องหาได้หลบหนีเข้ามาในประเทศไทยผ่านช่องทางธรรมชาติ โดยได้กลับมาก่อเหตุหลอกลวงในลักษณะเช่นเดิม ซึ่งจากการสืบสวน ทราบว่าผู้ต้องหาได้มีการหลอกระดมคนให้นำเงินมาร่วมลงทุนในธุรกิจรถไฟความเร็วสูงที่ผู้ต้องหาจะสร้างขึ้นในประเทศไทย โดยผู้ที่สามารถระดมคนให้นำเงินมาร่วมลงทุนกับผู้ต้องหาได้ จะได้รับผลตอบเเทนเป็นเงินจำนวน 5-10 ล้านบาท พร้อมกันนี้ยังสืบทราบว่าผู้ต้องหาได้มีการนัดกลุ่มนักการเมืองพรรคดังพรรคหนึ่งมาประชุมหารือที่โรงแรมย่านเลียบทางด่วนรามอินทรา โดยผู้ต้องหามีพฤติกรรมหลอกลวงในลักษณะเช่นเดิม โดยอ้างว่าตนเองมีเงินฝากอยู่ในบัญชีธนาคารในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก หากกลุ่มนักการเมืองให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหาในความผิดที่ถูกออกหมายจับได้นั้น ผู้ต้องหาจะนำเงินเข้ามาช่วยสนับสนุนในการลงทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งผู้ต้องหาอ้างว่าการสนับสนุนของผู้ต้องหาดังกล่าว จะช่วยให้ประชาชนเกิดความศรัทธากับพรรคการเมืองดังกล่าวมากขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบทราบตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมจึงได้นำกำลังเข้าตรวจสอบที่โรงเเรมย่านเลียบทางด่วนรามอินทรา แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ โดยเมื่อพบนายรวีโรจน์ฯ จึงได้เข้าจับกุมและนำตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ป. ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไปจากการสอบถาม ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา