“ก้าวไกล” ถลกงบท่องเที่ยวปี 2567 กว่า 16,000 ล้านบาท เกือบครึ่งใช้ทำถนน “สุดาวรรณ” อ้างตัดถนนไม่ใช่แค่หนุนท่องเที่ยว แต่ช่วยชุมชนด้วย

วันที่ 4 ม.ค. 2567 เวลา 08:13 น.

“สุดาวรรณ” แจงงบท่องเที่ยว กว่า 16,000 ล้านบาท เกือบครึ่งใช้ตัดถนน อ้างประโยชน์ช่วยชุมชน และ เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง การอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ในช่วงกลางดึกวันแรก (3ม.ค.67) นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล สส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล ตั้งคำถามถึง “งบลงทุนเพื่อการท่องเที่ยว” ที่ตั้งไว้กว่า 16,000 ล้านบาท ถูกนำไปใช้กับอะไร ก่อนจะแจกแจงรายละเอียด โดยระบุว่า งบก้อนแรก ใช้กับโครงการเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งทุกโครงการรวมกันมีมูลค่ากว่า 9,100 ล้านบาท แต่เมื่อนำทุกรายการมาจำแนกดูแล้ว สิ่งที่พบคือ 70% ของเงินก้อนนี้ ถูกเอาไปทำถนน ไปทำสะพาน ไปทำรางน้ำ ไปติดไฟกิ่งส่องสว่าง และไปซ่อมผิวถนน งบก้อนที่สอง ใช้กับ แผนบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว มูลค่า 7,384 ล้านบาท ก็พบอีกเช่นกันว่าเงินจำนวน 1,251 ล้านบาท (หรือประมาณ 17%) ของก้อนนี้ ก็ถูกเอาไปทำถนนอีก เมื่อนำทั้งสองก้อนมารวมกัน จะเห็นภาพชัดเลยว่า 47% ของประมาณเพื่อการท่องเที่ยว  เกือบครึ่งหนึ่ง คือ การเอาไปทำถนน “เห็นงบทำถนนเยอะขนาดนี้ ผมนึกว่าเรากำลังทำแคมเปญ เที่ยวทั่วไทย ไปได้ต้องมีรถยนต์ ซึ่งมันคงจะดีกว่านี้ ถ้าเงินจำนวนนี้ถูกแบ่งไปทำขนส่งสาธารณะตามต่างจังหวัดบ้าง จังหวัดรอง เมืองรอง เมืองรองของเมืองรอง จะได้ไม่เป็นรองกับเขาเสียที” นายณัฐพล กล่าว ทั้งนี้ นายณัฐพล กล่าวอีกว่า หากประชาชนเคยสงสัย ว่าทำไมแหล่งท่องเที่ยวถึงถูกปล่อยทิ้งร้างให้เสื่อมโทรม ทำไมไม่มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ นี่คือคำตอบ เพราะ มีเงินแค่ 15% เท่านั้นที่ลงไปกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เรื่องนี้เรียบง่ายมากๆ ถ้าแหล่งท่องเที่ยวไม่ดี ใครจะอยากไป ดังนั้น จุดหมายปลายทาง กับการเดินทาง ต้องถูกให้ความสำคัญพอๆ กัน ขณะที่ นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ชี้แจงว่า การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและการตัดถนนเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ใช่เพียงเพื่อการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่นำมาซึ่งความสะดวกสบายของประชาชนและชุมชนในพื้นที่ สามารถสร้างความเจริญและความกินดีอยู่ดีของประชาชน และยังสร้างความปลอดภัยในการเดินทางอีกด้วย นอกจากนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดทำเส้นทางใหม่ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเมืองรองที่บรรจุไว้ในปี 2567 มีการวางแผนทั่วทั้งประเทศในทุกภาค โดยภาคเหนือ มีโปรแกรม“เสน่ห์วันวานเมืองเหนือ” ภาคกลาง มีโปรแกรม “Trendy C2” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีโปรแกรม “หลงรักแผ่นดินถิ่นอีสาน” ภาคใต้ มีโปรแกรม “หรอยแรงแหล่งใต้” และภาคตะวันออก มีโปรแกรม “สบ๊ายสบายภาคตะวันออก” ซึ่งในการโปรโมทเมืองรองเหล่านี้ เพื่อเป็นการเชิญชวนและกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเกิดความสนใจ และ ตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่ประเทศไทยในส่วนของเมืองรองมากยิ่งขึ้น    หลังจากที่สมาชิกฯ ได้อภิปรายเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ประธานฯ สั่งพักการประชุมเวลา 00.38 น. และ นัดประชุมต่อในวันที่ 4 ม.ค.67 เวลา 09.00 น. สรุปวันแรกใช้เวลาอภิปรายไปแล้วกว่า 14 ชั่วโมง เหลือเวลาอีกกว่า 28 ชั่วโมง สำหรับอภิปรายอีก 2 วัน