สถานการณ์น้ำท่วมหลายพื้นที่ยังน่าห่วง

วันที่ 27 ธ.ค. 2566 เวลา 11:15 น.

ห้องข่าวภาคเที่ยง - ไปกันที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นต้นทางของปริมาณน้ำในแม่น้ำสายบุรี ที่ไหลไปพื้นที่จังหวัดปัตตานี สถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดในพื้นที่เป็นอย่างไร คุณอรรถพล ดวงจินดา จะรายงานสดจากพื้นที่เข้ามา ล่าสุดเช้าวันนี้ระดับน้ำที่ท่วม ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่พบว่าชาวบ้านในที่ถูกน้ำท่วมหลายพื้นที่ ยังต้องใช้ชีวิตอยู่กลางกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนได้เร่งนำทรัพย์สินที่ไม่ถูกระแสน้ำซัดหายไป ออกมาล้างทำความสะอาดกันบนถนน ซึ่งเป็นที่สูงจนเต็มพื้นที่ โดยสถานการณ์น้ำท่วมยังส่งผลกระทบต่อประชาชนกินพื้นที่บริเวณกว้างในจังหวัดยะลา ซึ่งเป็นลักษณะน้ำล้นตลิ่ง ไหลบ่ามาจากแม่น้ำทั้ง 2 สาย ทั้งแม่น้ำสายบุรี ที่ต้นน้ำมาจากเทือกเขาตั้งแต่อำเภอสุคิริน จะแนะ ศรีสาคร และเข้ามาที่อำเภอรามัน ก่อนจะไหลไปที่อำเภอกะพ้อ และสายบุรี จังหวัดปัตตานี ซึ่งอยู่ท้ายน้ำไหลลงทะเล ส่วนแม่น้ำอีกสายคือแม่น้ำปัตตานี ที่ต้นน้ำไหลจากอำเภอเบตง และรัฐเปรักมาเลเซีย ผ่านอำเภอธารโต บันนังสตา กรงปินัง เข้าเมืองยะลา แล้วจะไปออกที่อำเภอแม่ลาน ยะรัง ไปสู่ปลายน้ำริมชายทะเลที่อำเภอเมืองปัตตานี โดยพบว่าเช้าวันนี้ระดับน้ำที่ท่วมสูงหลายพื้นที่ เริ่มลดระดับลงแล้ว จนเห็นร่องรอยของความเสียหายจากกระแสน้ำที่ท่วมชัดเจนมากขึ้น อย่างในพื้นที่ตำบลอาซ่อง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา บริเวณนี้ถือว่าเป็นพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมหนักที่สุดของจังหวัดยะลา เนื่องจากเป็นทางผ่านของแม่น้ำสายบุรี ที่เป็นทางน้ำคดเคี้ยว ทำให้ก่อนหน้านี้ มีน้ำท่วมสูงกว่า 2-3 เมตร จนชาวบ้านต้องอพยพออกไปจากบ้านอย่างทุลักทุเล ท่ามกลางกระแสน้ำที่ไหลแรงและเชี่ยว โดยชาวบ้านบอกกับเราพร้อมน้ำตาว่า น้ำท่วมครั้งนี้หนักที่สุดตั้งแต่เกิดมากว่า 55 ปี โดยน้ำมาเร็วและแรง จนบ้านเรือน 2 ชั้น ยังจมน้ำทั้งหมด ทำให้ชาวบ้านบางส่วน ยังรับสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้ และไม่อยากเข้าไปดูภายในบ้าน เพราะน้ำท่วมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ กำแพงบ้านเรือนพังจากกระแสน้ำ และทรัพย์สินในบ้านเสียหายทั้งหมด นอกจากนี้ ชาวบ้านที่เข้าไปในบ้านได้ ก็เริ่มเข้าเก็บทรัพย์สินที่ไม่ถูกกระแสน้ำซัดหายไป ออกมาล้างทำความสะอาด อย่างรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่เคลื่อนย้ายออกมาจอดริมถนนตลอดเส้นทาง ขณะที่พื้นที่ผลกระทบจากน้ำท่วมในจังหวัดยะลา ที่ ปภ.ยะลา ได้สรุปสถานการณ์ไว้พบว่า มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 7 อำเภอ (ยกเว้นอำเภอเบตง เพียงอำเภอเดียว) 50 ตำบล 402 หมู่บ้าน ผู้ได้รับผลกระทบ 15,752 ครัวเรือน ประชาชนเดือดร้อน 62,097 คน และมีผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วมแล้ว 1 คน นอกจากนี้ ยังพบว่าสะพานทรุดตัว และมีรอยแตกร้าวบริเวณคอสะพานในหลายจุด ทำให้รถไม่สามารถผ่านได้แล้วหลายเส้นทาง บริเวนแม่น้ำสายบุรี น้ำจะไหลจากจุดนี้ ไปทางอำเภอกะพ้อ และจะไหลไปที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ก่อนจะออกทะเลอ่าวไทย ทำให้พื้นที่ท้ายน้ำที่อำเภอสายบุรี น้ำบ่าเข้าไปท่วมแล้วหลายพื้นที่ จึงต้องแจ้งเตือนชาวบ้านที่ใกล้แม่น้ำสายบุรี รับมือมวลน้ำดังกล่าว