คอลัมน์หมายเลข 7 : ACT ชวนจับตา ปี 67 งานจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ของภาครัฐ
วันที่ 25 ธ.ค. 2566 เวลา 20:10 น.
ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ ชวนทุกคนติดตาม 10 คดีคอร์รัปชันแห่งปี 2566 ที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) สะท้อนภาพห่วงโซ่การโกงกิน โดยร่วมมือกันเป็นขบวนการ รวมถึงจับตา 6 โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ในปี 2567 คุณสุธาทิพย์ ผาสุข สรุปให้ฟังในคอลัมน์หมายเลข 7 "โกงไม่อายใคร ท้าทายไม่เกรงกลัว" เป็นบทความช่วงหนึ่งที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแห่งประเทศไทย เผยแพร่ออกมา โดยหยิบยก 10 คดีคอร์รัปชัน หรือคาบเกี่ยวกับการทุจริตในรอบปี 2566 มาสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมฉ้อฉล ห่วงโซ่การคอร์รัปชันโกงกินแบบร่วมมือกันเป็นขบวนการ ทั้งของข้าราชการ นักการเมือง และกลุ่มทุน คดีหมูแช่แข็งเถื่อน ลักลอบนำเข้าต่อเนื่องนาน 3 ปี เป็นหนึ่งในเรื่องราวที่สะท้อนภาพชัดเจนว่าสร้างความเสียหายให้กับรัฐไม่ต่ำกว่า 2.5 พันล้านบาท อีกทั้งยังกระทบต่อความอยู่รอดของผู้เลี้ยงหมูและอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูอย่างรุนแรง เพราะนักการเมือง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต่างใช้เส้นสายอำนวยความสะดวกให้ขบวนการกลุ่มนี้ อีกหนึ่งคดีแห่งปี 2566 ที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ชวนจับตามอง คือ คดีกำนันนก นักธุรกิจท้องถิ่นผู้มีอิทธิพล ได้งานจากภาครัฐกว่า 1,200 โครงการ มูลค่าราว 7,000 ล้านบาท ซึ่งประเด็นนี้เป็นหนึ่งในเรื่องราวที่คอลัมน์หมายเลข 7 ขยายผลตรวจสอบ กระทั่งพบพิรุธในขั้นตอนการยื่นเสนอราคาของบริษัทกำนันนก รวมถึงบริษัทที่ยื่นเป็นคู่เทียบ และเมื่อลงไปตรวจสอบ ก็ไม่พบภาพที่แสดงให้เห็นถึงการประกอบธุรกิจ ในขณะที่หน่วยงานตรวจสอบก็ยืนยันถึงพิรุธต่าง ๆ ในคดีนี้อย่างน่าสนใจ คดีกำนันนก ยังสะท้อนให้เห็นถึงภาพคดีคอร์รัปชันที่มีหน่วยงานรัฐร่วมทำคดีมากที่สุด โดยพบว่ามีการพัวพันปัญหาตั้งแต่การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ รถบรรทุกน้ำหนักเกิน ธุรกิจสีเทา การฟอกเงิน และเครือข่ายบ้านใหญ่ในจังหวัด และในปี 2567 ที่กำลังจะถึงนี้ ยังมี 6 โครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ส่งสัญญาณเชิญชวนประชาชนจับตามอง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นโครงการที่น่าสนใจ เช่น ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ล้มและเลื่อนยาวเพราะเจ้าหน้าที่รัฐทำเรื่องไม่ชอบมาพากลซ้ำซ้อน โครงการสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่จบการประมูล 5 ปีแล้ว แต่เอกชนผู้ชนะยังขอเจรจาอยู่ โดยไม่เปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้สิ่งที่เปลี่ยนไป ถือเป็นการทำลายหลักพื้นฐานการประมูลงานอย่างเป็นธรรม