กมธ.ตำรวจ ถกเดือด ปม ทักษิณ
วันที่ 22 ธ.ค. 2566 เวลา 06:10 น.
เช้านี้ที่หมอชิต - ปม "นักโทษเทวดา" จะบานปลายเหมือนกรณี "นิรโทษกรรมสุดซอย" ที่นำไปสู่วิบากกรรมต่อเนื่องของตระกูลชินวัตรหรือไม่ คงไม่มีใครตอบได้ แต่ต้องบอกว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายขยับขับเคลื่อนและตั้งคำถามกันทุกวันจริง ๆ กมธ.ตำรวจ ถกเดือด ปม ทักษิณ ล่าสุด คณะกรรมาธิการการตำรวจ เรียกผู้เกี่ยวข้องถกเรื่องนี้เป็นสัปดาห์ที่สอง หลังสัปดาห์ก่อนเรียกตัวแทนจากกรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ เข้าชี้แจงกรณี นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิในการรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 นานถึง 120 วัน โดยไม่ต้องนอนเรือนจำแม้แต่คืนเดียว แต่ผู้ชี้แจงไม่สามารถตอบข้อสงสัยได้ จึงได้เชิญ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มาชี้แจง ซึ่งทาง พ.ต.อ.ทวี มอบหมายให้รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นผู้มาชี้แจงแทน นายวัชระ เพชรทอง ในฐานะผู้ร้องให้มีการตรวจสอบการรักษาตัวของ นายทักษิณ กล่าวถึงประเด็นข้อสงสัยว่า อยากให้นำภาพมาแสดงว่า นายทักษิณ รักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจจริงหรือไม่ และอีกเรื่องหนึ่ง ทำไมนายทักษิณ จึงไม่ต้องลงทะเบียนประวัตินักโทษตามแบบฟอร์ม ท.ร.101 เหมือนนักโทษคนอื่น เรื่องภาพ ทาง พล.ต.ต.สามารถ ม่วงศิริ นายแพทย์ (สบ.7) โรงพยาบาลตำรวจ ยอมรับว่ากล้องวงจรปิดโรงพยาบาลตำรวจ เสียทุกชั้นทุกห้องตั้งแต่ปีที่แล้ว จึงไม่มีภาพมายืนยัน ส่วนกรณีไม่ได้ลงทะเบียนประวัตินักโทษ ทางกรมราชทัณฑ์ ได้ให้ กมธ. ดูใบกรอกประวัติอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมยืนยันว่า นายทักษิณ กรอกถูกต้องเรียบร้อยแล้ว กมธ.จ่อบุก รพ.ตำรวจ เยี่ยม ทักษิณ 12 ม.ค. หลังการประชุม นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธาน กมธ.ตำรวจ แถลงข้อสรุป 5 ข้อ ดังนี้ 1.การวินิจฉัยให้ นายทักษิณ รักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ เป็นความเห็นของแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เนื่องจากพบอาการป่วย เช่น โรคไวรัสตับอักเสบบี แน่นหน้าอกอันเป็นผลมาจากเคยติดโควิด ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับปอด จึงมีความเห็นให้ส่งตัว 2.เงินที่ใช้รักษา ใช้สิทธิสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยทางกรมราชทัณฑ์แจ้งว่า หากเกิน ผู้ต้องขังมีสิทธิจ่ายเงินส่วนต่างได้ จึงขอให้กรมราชทัณฑ์ส่งเอกสารระเบียบที่ระบุให้ดำเนินการเช่นนี้ได้กลับมาให้ กมธ. 3.ขอเอกสารข้อมูล ภาพถ่ายผู้คุมที่ปฏิบัติหน้าที่ และการผลัดเปลี่ยนเวรต่าง ๆ ทั้งหมด 4. ขอเอกสารใบกรอกประวัติแบบกระดาษ ท.ร.101 5. กมธ. มีมติว่า จะเดินทางไปยังโรงพยาบาลตำรวจ ในเวลา 09.00 น. วันที่ 12 มกราคม 2567 ก่อนวันเด็กแห่งชาติ 1 วัน แต่หากตรงกับการประชุม พ.ร.บ.งบประมาณ 67 ก็จะเลื่อนออกก่อน ก้าวไกล รุมขยี้ ทักษิณ นักโทษเทวดา ขณะที่ พรรคก้าวไกล ขยี้ต่อในสภา โดยส่ง นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาต่อนายกรัฐมนตรี แต่เนื่องจาก นายกฯ ลาพักร้อน มอบหมายให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้ตอบแทน นางสาวชลธิชา กล่าวว่า กรณี นายทักษิณ ทำให้สังคมไทยตั้งคำถามเรื่องเกณฑ์พิจารณาการส่งตัวผู้ต้องขังออกไปรักษานอกเรือนจำ เพราะปีที่ผ่านมา มีเพียง 4 คนเท่านั้น ที่ได้รับสิทธิแบบนี้ ขณะที่หลายคนลำบากมากในการออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำ เช่นกรณี เอกชัย หงส์กังวาน ผู้ต้องขังคดีการเมือง ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เร่งส่งตัวกลับเรือนจำ ทั้งที่อยู่ระหว่างการรับยาฆ่าเชื้อหลังตรวจพบฝีที่ตับ โดยแพทย์มีความเห็นว่าการติดเชื้อดังกล่าวมีสาเหตุจากสภาพเรือนจำที่ไม่ถูกสุขลักษณะ จึงเห็นได้ว่าแนวปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ระหว่างกรณี ทักษิณ และเอกชัย แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จากนั้นได้สอบถาม พ.ต.อ.ทวี ว่ากรณีส่งตัว นายทักษิณ ทำตามขั้นตอนปกติหรือไม่ และการได้รักษาตัวที่ชั้น 14 ซึ่งเป็นชั้นผู้ป่วย VIP มีความเหมาะสม หรือเป็นความจำเป็นทางการแพทย์อย่างไร ด้าน พ.ต.อ.ทวี ชี้แจงว่า กรณีรักษาตัวนอกเรือนจำครบ 120 วัน จะพูดเฉพาะข้อเท็จจริงที่ได้รับเป็นเอกสารเท่านั้น แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับเอกสารใด ๆ รับทราบจากอธิบดีราชทัณฑ์ว่า วันนี้ (21 ธ.ค.) จะส่งรายงานมาให้ และตนมีหน้าที่เพียงรับทราบ แต่ไม่ใช่ผู้อนุมัติ ส่วนประเด็นชั้น 14 ไม่ใช่ชั้นพิเศษ เพราะตนยังพบผู้ใหญ่บางคนไปเยี่ยมญาติที่ชั้นดังกล่าว อย่างไรก็ดี การพักชั้น 14 นั้น เพื่อความปลอดภัยตามระบบของราชทัณฑ์