จี้คุมเข้มโฆษณาขายรถ จยย. เร็วแรง ทำคนไทยเจ็บ-ตาย ทุก 34 นาที

วันที่ 19 ธ.ค. 2566 เวลา 10:09 น.

อุบัติเหตุจากรถ จยย. ทำคนไทยบาดเจ็บรุนแรง-ตาย  เฉลี่ย 1 คน ทุก 34 นาที พิการเฉียดหมื่นคน/ปี อดีตที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลก จี้รัฐคุมเข้มโฆษณาขายรถ จยย. เน้นเร็วแรงมากกว่าความปลอดภัย เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรนั่งหรือซ้อนท้ายจยย วันนี้ (19 ธ.ค.66 ) พญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์  อดีตที่ปรึกษาด้านป้องกันการบาดเจ็บภาวะพิการ ประจำองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ผู้รับผิดชอบโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัย เปิดเผยว่า รถจักรยานยนต์ เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก แต่กลับมีการโฆษณาที่สร้างแรงจูงใจให้มีการขับขี่ที่เร็ว แรง โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และ ผู้ที่ใช้รถ ใช้ถนนร่วมกับรถจักรยานยนต์ ส่งผลให้ผู้ใช้จักรยานยนต์ มีการบาดเจ็บรุนแรงและตายอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ย 1 คน ทุก 34 นาที และพิการเฉลี่ย 9,841 คนต่อปี ขณะที่อัตราตายต่อประชากรเป็นลำดับ 1 ของโลกในรายงานองค์การอนามัยโลกปี 2015 และ 2018 ผู้ผลิตหรือจำหน่ายจักรยานยนต์ในไทย ไม่ได้ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัยอย่างจริงจัง แม้เป็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยที่สำคัญที่สุด นอกจากนี้ ผู้ผลิต จำหน่ายและขายจักรยานยนต์ไทยยังตั้งชื่อรุ่น “ครอบครัว” ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่าจักรยานยนต์ใช้ขับขี่ได้ทุกวัย ซึ่งจากการเฝ้าระวังทางสื่ออินเทอร์เน็ตทั่วโลก  พบว่าผู้ผลิตมีการใช้คำนี้เฉพาะประเทศไทย ลาว กัมพูชา เท่านั้น ขณะที่ในประเทศผู้ผลิตและการส่งออกไปยังต่างประเทศในอเมริกาและยุโรปไม่มีการใช้คำว่ารุ่นครอบครัว นอกจากนี้ ยังมีการโฆษณาเหนี่ยวนำพฤติกรรมขับขี่เร็ว ขับขี่หวาดเสียว เสี่ยงอันตรายและผิดกฎหมาย อย่างต่อเนื่อง “อยากเรียกร้องให้ท่านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้เร่งรัดดำเนินการให้มีการออกมาตรการที่ควรดำเนินงานและคำเตือนข้อความให้ความรู้ที่ควรมีในโฆษณาทุกประเภทของรถจักรยานยนต์ต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคโดยเร่งด่วนเพื่อไม่ให้คนไทยต้องบาดเจ็บ พิการและเสียชีวิตมากขึ้น ทั้งนี้ ข้อเสนอของโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัยและภาคีเครือข่ายกว่า 40 องค์กร เสนอให้การโฆษณาของบริษัทรถจักรยานยนต์ ควรมีข้อความ เช่น  "หากไม่สวมหมวกนิรภัยทุกครั้งที่ขับขี่หรือซ้อนท้าย จะถึงแก่ชีวิตได้"  ,ความเร็วในการขับขี่จักรยานยนต์ที่มีการชนจนถึงแก่ชีวิต พบมากสุดที่ความเร็ว 51 ถึง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ,การมีระบบเบรค abs หรือ cbs สำคัญต่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่จักรยานยนต์, แสงไฟส่องสว่างที่ชัดเจนและแผ่นสะท้อนแสงรอบด้านของจักรยานยนต์สำคัญต่อการขับขี่กลางคืนให้เสี่ยงลดลง และไม่ควรหลีกให้ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีที่ไม่มีหมวกนิรภัยมาตรฐานโดยสารรถจักรยานยนต์ เป็นต้น