ปชป.ยังไม่จบ เลือดฟ้า ทะลักสังเวยหัวหน้าพรรคคนใหม่
วันที่ 12 ธ.ค. 2566 เวลา 07:10 น.
สนามข่าว 7 สี - ยังมีอดีต สส.และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ทยอยลาออกอย่างต่อเนื่อง หลังคุณอภิสิทธิ์ โบกมืออำลาพรรคในวันเลือกหัวหน้าพรรค ปชป.ยังไม่จบ เลือดฟ้า ทะลักสังเวยหัวหน้าพรรคคนใหม่ ไปดูเหตุผลของอดีตสมาชิกพรรคท่านนี้ ต้องบอกว่าแซ่บแบบเต็มสิบไม่หักเลย มี 3 เหตุผลตรงไปตรงมาจากคุณวิบูลย์ ศรีโสภณ บอกว่า อุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์เปลี่ยนไป เน้นใช้เงินสร้างพรรคและ สส. หัวหน้าพรรคตระบัดสัตย์ ไม่รักษาคำพูด ไม่สามารถให้การเคารพได้อีกต่อไป และหัวหน้าพรรคสร้างทัศนคติให้ สส. ในพรรคขาดความเคารพ กระด้างกระเดื่องกับอดีตหัวหน้าพรรค สร้างความแตกแยกในพรรค ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน และถ้าหากเราไล่ดูเฉพาะที่เป็นข่าวจะพบว่ามีสมาชิกพรรคและอดีต สส.ลาออกตามคุณอภิสิทธิ์ไปนับสิบคนแล้ว ล่าสุดเป็น 2 อดีต สส. คือ คุณอรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ อดีต สส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ภาพ คลิป พร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค มีข้อความระบุว่า "สจฺจํ เว อมตา วาจา ขอบพระคุณท่านหัวหน้าอภิสิทธิ์ ที่เป็นแบบอย่างนักการเมืองที่ดีมาโดยตลอด ยังคงรัก ศรัทธา และเป็นกำลังใจให้ท่านหัวหน้าตลอดไป 25 ปีกับชีวิตนักการเมืองที่ไม่เคยเปลี่ยนพรรค พูดได้เต็มปากว่า เลือดฟ้ามันข้น กรีดมายังงัยก็ฟ้าแน่นอน ตุ๋ยยังคงรักพรรคไม่เสื่อมคลาย แม้วันนี้ต้องตัดสินใจที่ฝืนความรู้สึก ด้วยการลาออกจากสมาชิกพรรคที่รักที่สุด แต่จะไม่ไปไหน ยังคงอยู่ตรงนี้ เฝ้ามองด้วยความหวังดีและห่วงใยตลอดไป" เช่นเดียวกับนางอัญชลี วานิช เทพบุตร อดีต สส.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า "การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ ที่จะเป็นผู้นำของพรรคประชาธิปัตย์ กลับเป็นผู้เสียสัตย์ในสัจจะวาจาว่า จะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต เมื่อผู้นำพรรคยุคนี้..ไม่อาจดำรง คติพจน์แห่งพรรค อุดมการณ์ของพรรค ไม่อาจรักษา สัจจะวาจาแห่งตนได้ ดิฉันจึงขอลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์นับแต่บัดนี้ เพราะละอายใจต่อมวลสมาชิกที่ซื่อตรงต่อพรรค เพื่อนผู้ร่วมอุดมการณ์ของพรรค...จนกว่าเราจะพบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ" และยังมีคุณสาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีต สส.ตรัง โพสต์ว่า "คิดหนักมา 2 วัน แม้ยังยึดมั่นในอุดมการณ์ แต่ในวันที่จิตวิญญาณประชาธิปัตย์มิอาจเปล่งประกาย หลังหารือทีมงานที่สู้ร่วมกันมากว่า 28 ปี จึงตัดสินใจลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์" คุณสาทิตย์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า รับไม่ได้กับที่มาของกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ที่บิดเบี้ยว กินรวบเฉพาะกลุ่ม ขอถอยมาตั้งหลัก พร้อมกับสวนคุณชัยชนะ เดชเดโช รองหัวหน้าพรรคฯ ที่บอกว่า คนลาออกไม่ได้รักพรรคจริงว่า ให้กลับไปถามตัวเองว่า รักพรรคจริงหรือไม่ อย่าโทษคนอื่น ขณะที่คุณอภิสิทธิ์ โพสต์ข้อความที่พูดในวันลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ แบบคำต่อคำผ่านเฟซบุ๊ก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีผู้ติดตาม 2.1 ล้านคน โดยมีผู้เข้าไปให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ก็พูดตรงกันว่า เชื่อมั่น และศรัทธา รอคอยการกลับมาเป็นหัวหน้าและนายกฯ อีกครั้ง ส่วนในโลกออนไลน์ก็รุมถล่มคุณเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ แบบจัดหนักเลย โดยเฉพาะประเด็น ตระบัดสัตย์ บอกจะวางมือทางการเมือง แต่กลับมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรค ระบายอารมณ์กันว่า จะไม่เลือกพรรคประชาธิปัตย์แล้ว พร้อมทำนายทายทักว่า พรรคมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ รวมถึงถามหาสัจจะจากหัวหน้าพรรคคนใหม่ด้วย ย้อนความขัดแย้งภายใน ปชป. 77 ปี ภาระใหญ่ฟื้นฟูพรรค สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ถือเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย อยู่บนถนนการเมืองมาแล้ว 77 ปี เรียกว่าผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายยุค เคยเกิดความขัดแย้งเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เรียกกันว่า กลุ่ม 10 มกรา ในปี 2522 ก่อนจะเกิดปัญหาขัดแย้งทางความคิดรุนแรง กรณีการเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. จนทำให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ลาออกไปตั้งพรรคใหม่ มีอดีต สส.ย้ายตามไปบางส่วน ขณะที่ภายในพรรคก็ยังคุกรุ่น เพราะแนวความคิดไม่ตรงกัน โดยเฉพาะการสนับสนุน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี สวนทางกับสิ่งที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และหัวหน้าพรรคในขณะนั้น ประกาศไว้กับประชาชน สุดท้ายมติพรรคให้ไปร่วมรัฐบาลทำให้นายอภิสิทธิ์ ลาออกจากการเป็น สส. หลังจากนั้นก็มีกลุ่ม สส.ลาออกไปร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ พ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่างยับเยิน จากเคยได้สส. 52 คน เหลือแค่ 25 คน จนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ลาออกจากหัวหน้าพรรค และเพิ่งได้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน มาเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาระหว่างมีการจัดตั้งรัฐบาล ก็มีข่าวคราวอย่างต่อเนื่องถึงคนในพรรคกลุ่มนายเฉลิมชัย ไปดีลกับพรรคเพื่อไทย เพื่อขอร่วมรัฐบาล เรื่องนี้ยังเป็นประเด็นที่คุณชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคฯ ออกมาดักคอไว้ว่า "อย่าเอาพรรคไปหากิน อย่าดิ้นรนเป็นรัฐบาล" หลังจากนี้ก็คงต้องจับตากันต่อว่า ประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายเฉลิมชัย จะมีทิศทางการเมืองอย่างไร